Genius vs Scenius - เมื่อ”ผม”ไม่ได้เป็นอัจฉริยะ แต่”เรา”เป็นอัจฉริยะ

Scenius มีรากศัพท์มาจากคำว่า Scene คือ อัจฉริยะคือสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม คือ กลุ่มคนที่เก่งและสร้างผลงานได้ดี เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่คอยช่วยเหลือและแข่งขัน จนทำให้กลุ่มคนนั้นเกิดสภาวะอัจฉริยะ

Marach T.

05 Mar 2022


ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยู่ในโลกที่มีแต่คนเก่งๆ

ไม่ว่าจะมองไปรอบตัว ไถ social หรือดู youtube ก็จะเจอแต่คนที่สุดเก่งไปเสียหมด

บางทีก็แอบคิดว่า

  • เราจะเก่งเหมือนคนเหล่านั้นได้มั้ยนะ
  • เราจะสร้างผลงานดีๆเหมือนคนเหล่านั้นได้มั้ยนะ

ความคิดนี้อาจจะดูเหมือนผมน้อยเนื้อต่ำใจและตัดพ้อ

แต่มันทำให้ผมตามหาวิธี จนได้รู้จักกับคอนเซปท์ของ Scenius ที่ทำให้ผมเข้าใกล้ความ “เก่ง” ขึ้นมาก

จาก Genius (อัจฉริยะ) สู่ Scenius (อัจฉริยะระดับกลุ่ม)

ข้อแตกต่างของ genius และ scenius คือ genius เก่งที่ยีนส์ ส่วน scenius เก่งที่สิ่งแวดล้อม

คำว่า Genius มีรากศัพท์มาจากคำว่า Gene คือ เกิดมาเก่งเพราะหน่วยพันธุกรรมที่ตัวเองได้รับมา คือ คนเกิดมาเก่งเลย สร้างผลงานได้ดีเลย

Scenius มีรากศัพท์มาจากคำว่า Scene คือ อัจฉริยะคือสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม คือ กลุ่มคนที่เก่งและสร้างผลงานได้ดี เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่คอยช่วยเหลือและแข่งขัน จนทำให้กลุ่มคนนั้นเกิดสภาวะอัจฉริยะ

เช่น

  • ทีมดีไซน์ในที่ทำงาน ที่คอยรีวิวงานกัน จนผลงานออกมาดี
  • นักศึกษา ป. โท ที่แลกเปลี่ยน case study กัน จนทำได้มุมมองใหม่ๆ
  • คนใน community programmer ที่แบ่งปันเครื่องมือและวิธีการทำงานกัน จนได้วิธีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น

จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าเราดูแค่ที่ตัวบุคคล เราจะรู้สึกว่าคนๆนั้นเก่ง (ผลงานดีไซน์เนอร์คนนี้ดีจัง เขาต้องเก่งมากแน่ๆ) ทั้งที่ความจริงสภาวะแวดล้อมเป็นตัวแปรที่สำคัญ (ทีมดีไซน์ช่วยกันรีวิวจนทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ)

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแค่อยู่กันเป็นกลุ่มแล้วจะเป็น Scenius

จะเห็นว่า Scenius มาได้ในหลายรูปแบบและอยู่รอบตัวเรา แต่นั้นก็ไม่ได้แปลว่าทุกกลุ่มเป็น Scenius

ทีมดีไซน์บริษัท A ที่ริวิวงานกันอาจจะเป็น Scenius

ในขณะที่ทีมดีไซน์บริษัท B ที่ริวิวงานกันอาจจะเป็นแค่สิ่งแวดล้อมที่ toxic ที่ไม่ได้พัฒนาใครเลย

มันยากที่เราจะหา Scenius เจอจากการมองภายนอก วิธีเดียวคือต้องลองเข้าไปอยู่

ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีว่าเราอยู่ใน Scenius แล้ว

Scenius มีหน้าตายังไง

Scenius เกิดจาก คนที่มีความสนใจหรือจุดประสงค์เดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีคุณสมบัติ 4 ข้อ

1. มีแรงกดดัน (เชิงบวก)

แรงกดดันเชิงบวก ทำให้กลุ่มที่เป็น scenius พัฒนาไปด้วยกัน

คือ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดแรงกดดันซึ่งกันและกัน จนทำให้คนในกลุ่มอยากที่จะพัฒนาไปด้วยกัน

เช่น

  • ในกลุ่มมีคนที่เป็นคนเก่งมาก ทำให้เราประทับใจและอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น (แข่งขันกันแบบ healthy)
  • ในกลุ่มมีคนที่มีน้ำใจ แคร์คนอื่น ทำให้เราอยากสนับสนุนคนอื่นในลักษณะเดียวกัน

แรงกดดันจะดีก็ต่อเมื่อคนในกลุ่มรู้สึกปลอดภัย ทุกคนสามารถลงมือได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลเสียแก่ตัวเอง

2. แลกเปลี่ยนความรู้และเครื่องมืออยู่เสมอ

การแลกเปลี่ยนเครื่องมือและความรู้ ทำให้กลุ่มที่เป็น scenius มีองค์ความรู้ใหม่ๆ

เมื่อคนที่มีความสนใจเดียวกัน จะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ในกลุ่มพัฒนาขึ้น

เช่น

  • กลุ่มชอบนักร้องเกาหลี มีคำศัพท์ที่รู้กันในวงใน สอนท่าเต้นกันและกัน คอยแบ่งข้อมูลกิจกรรมต่างๆของเมนที่เราชอบ
  • กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรม มีจัด meetup เจอกันเพื่อแลกเปลี่ยน framework หรือ tool ใหม่ๆ

การแลกเปลี่ยนทำให้เกิดมุมมองใหม่และการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายขึ้น

3. มีอิสระที่จะแตกต่าง

การที่มีอิสระ ไม่ถูกควบคุม ทำให้กลุ่มที่เป็น scenius สร้างผลลัพธ์ใหม่ๆที่แหวกแนว และน่าทึ่ง

คือ กลุ่มสามารถทำอะไรที่แปลกใหม่ได้โดยไม่มีการบังคับจากปัจจัยภายนอกมากเกินไป

เช่น

  • โปรดักทีมทดลองทำวิธีการทำงานใหม่ๆที่อาจจะไม่เคยทำมาก่อน
  • ดีไซน์ทีมสามารถ discovery idea หรือเสนอสิ่งใหม่ๆได้ โดยไม่ได้ถูกบังคับว่า solution ต้องเป็นอย่างไร

ไม่ได้แปลว่าจะอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ว่าต้องอิสระมากพอที่จะให้ลองทำบ้าง

การทำสิ่งที่แหวกกฏเกณฑ์ จะสนับสนุนคนในกลุ่มกล้าทดลองจนทำให้เกิดไอเดียแปลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม

4. สำเร็จร่วมกันเป็นหมู่คณะ

การฉลองความสำเร็จร่วมกัน ทำให้กลุ่มที่เป็น scenius พากันพัฒนาให้สำเร็จมากยิ่งขึ้นไปทั้งกลุ่ม

คือ พอคนช่วยเหลือกันในกลุ่ม (ทำ 1-3 เยอะๆ) ทำให้อัตราความสำเร็จมันสูงขึ้น และเมื่อมีคนทำสำเร็จทุกคนก็จะรู้สึกดีใจร่วมกัน

และในทางกลับกัน พอเกิดความสำเร็จที่เยอะขึ้น ก็จะยิ่งยุให้ 1-3 ดีขึ้นได้อีก

  • แรงกดดันเชิงบวก (1) จะมากขึ้น เพราะมีคนที่ทำสำเร็จให้ inspire เราอีก
  • การแลกเปลี่ยนความรู้ (2) จะมากขึ้นเพราะ คนสำเร็จก็มี case เล่าให้ฟัง หรือพอคนเห็นว่าความรู้ที่มีการแชร์มันสร้างประโยชน์ได้คนก็ยิ่งอยากแชร์
  • มีอิสระที่จะแตกต่าง (3) มากขึ้น เพราะ กลุ่มได้รับการยอมรับจากผลงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้น

Scenius เกิดขึ้นได้ยังไง

เมื่อผู้บุกเบิก มีคุณสมบัติ scenius คนที่มาเข้าร่วมก็จะมีคุณสมบัตินั้นๆไปด้วย จนกลายเป็นคุณสมบัติทั้งกลุ่มในที่สุด

ปัจจัยที่สำคัญในการเกิด Scenius คือ Pioneer (ผู้บุกเบิก)

ผู้บุกเบิกในที่นี้อาจจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ที่ทำให้กลุ่มมีคุณสมบัติ 1-4 ที่บอกไป เช่น

  • กลุ่มนี้มีผู้บุกเบิก 3 คน
  • คนนึงเป็นคนมีประสบการณ์ชอบแชร์ความรู้
  • อีกคนเป็นคนมี authority สูง และ network ที่ดี คอย Empower คนในทีมมีอิสระและทรัพยากรในการทำงาน
  • อีกคนเป็นคนชอบจัดการ celebrate ให้ทุกคนดีใจร่วมกัน

หรือจะเป็นกลุ่มที่มีผู้บุกเบิกคนเดียวแบบ all-in-one เลยก็ได้

ผู้บุกเบิกเป็นเหมือนต้นแบบของกลุ่ม สมาชิกอื่นที่ค่อยๆเข้ามาร่วมจะเห็นแนวทางเพื่อหาวิธี contribute ให้กับกลุ่มในแบบของตัวเอง

ประเด็นคือ เราไม่สามารถเร่งสร้าง Scenius ขึ้นมาได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนในกลุ่ม ไม่ใช่แค่ผู้บุกเบิกเท่านั้น

หน้าที่ของผู้บุกเบิก คือ ช่วยกันทำให้คุณสมบัติ 1-4 เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนอื่นๆอยากที่จะมาร่วม จนกระทั่งคุณสมบัติ 1-4 นั้นเกิดได้เองในกลุ่ม

มาเป็น Scenius กันเถอะ!

สำหรับคนที่อยากพัฒนาตัวเองไปเป็น scenius เราสามารถลงมือได้ตอนนี้เลย

ทุกคนเป็น scenius ได้ โดยการตั้งเป้าว่าอยากเก่งอะไร เป็นผู้บุกเบิกในทุกวัน และหากลุ่มที่เหมาะกับเรา

เริ่มด้วยการตั้งเป้าว่าเราอยากเก่งอะไร

วางให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราอยากเก่งขึ้น อาจจะเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงาน หรือเป็น passion ที่อยากทำก็ยิ่งดี

เป็น pioneer ในทุกที่และทุกวัน

เมื่อเรามีเป้าแล้ว เราก็อย่าอายที่จะแสดงออกว่าอินกับสิ่งนั้นๆ และพาคนอื่นอินไปกับเราด้วย

  • บอกคนอื่นว่าเราอินอะไร
  • ถ้าเจอคนเก่ง เข้าไปขอคำแนะนำจากเค้า
  • ถ้าเจอคนที่สนใจเหมือนๆเรา คุยและแบ่งปันประสบการณ์
  • คอยสนับสนุนคนอื่นเสมอๆ ทั้งในด้านทักษะ หรือความรู้สึก

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกสนใจในสิ่งเดียวกับเรา แต่การเป็น pioneer ตลอดเวลา จะทำให้ (1) ตัวเราพัฒนาขึ้น และ (2) เจอคนที่สนใจเหมือนเรามากขึ้น

เผลอๆ เราอาจจะสร้างกลุ่มที่เป็น scenius ขึ้นมาเองโดยไม่รู้ตัว

ตามหาที่ที่เหมาะกับเรา - อยู่ในที่ที่เหมาะ

สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิด scenius ดังนั้น เราควรจะหาที่ที่

  • คนมีความสนใจแบบเดียวกัน (หรือมีเป้าหมายร่วมกัน)
  • มีเคมีที่เข้ากันได้

วิธีเดียวที่จะรู้ได้ว่าเหมาะกับเราจริงมั้ย คือเข้าไปร่วมและ contribute

อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้เราเจอคนอื่นๆได้ง่ายขึ้น อย่ากลัวที่จะลองเข้ากลุ่มต่างๆ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆถ้ายังรู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา

เราแค่ต้องตามหาไปเรื่อยๆ เราจะเจอที่ๆเรารู้สึกเหมาะสมเอง

คอนเซปต์ของ scenius ทำให้ผมพัฒนาได้ไวขึ้น

ผมชอบดีไซน์และโค้ดมาก แต่รู้ตัวว่าไม่ได้เป็นคนเก่ง ก็เลยไม่อยากทำให้คนอื่นเห็น ไม่อยากคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น

แทนที่จะคุยกับชาวบ้าน เราเอาเวลามาฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้นจะดีกว่า ซึ่งผมก็เชื่อว่าผมค่อยๆเก่งขึ้นทุกวัน

แต่พอเข้าใจแนวคิดของ scenius มันเสริมให้ผมพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

ผมลองเปลี่ยนตัวเองเป็น pioneer และเริ่มเห็นผลลัพธ์ของแนวคิดนี้

  • ได้สร้างงานดีๆขึ้นมา ผ่านการ bounce idea และลงมือกับคนรอบข้าง
  • ได้แชร์ประสบการณ์ให้คนที่สนใจเรื่องแบบเดียวๆกัน
  • ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน

ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ได้รู้สึก comfortable ขนาดนั้น (ผมเป็น introvert จัดๆ)

แต่ผมรู้สึกว่าผมพัฒนาเร็วขึ้นมาก และดีใจที่เริ่มสร้างงานดีๆออกมาได้ แม้ว่าจะไม่ได้อัจฉริยะมาแต่เกิดก็ตาม

การฝึกฝนพร้อมแนวคิด scenius ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าการฝึกฝนแบบคนเดียว

Key takeaways:

  • Scenius คือ อัจฉริยะแบบกลุ่ม (สิ่งแวดล้อมมีผลให้เป็นอัจฉริยะ)
  • Scenius มีคุณสมบัติ 4 อย่าง

    • มีแรงกดดันเชิงบวก
    • มีการแลกเปลี่ยนความรู้แลเครื่องมืออยู่เสมอ
    • มีอิสระที่จะแตกต่าง
    • มีความสำเร็จร่วมกันเป็ฯหมู่คณะ
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Scenius คือต้องมี Pioneer (ผู้บุกเบิก) ที่คอยสร้างคุณสมบติข้างต้นให้เกิดขึ้นในกลุ่ม
  • เราทุกคนสามารถเป็น Scenius ได้ โดย

    • ตั้งเป้าว่าเราอยากเก่งอะไร
    • เป็น pioneer ในสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้า ในทุกที่ทุกเวลา
    • ตามหาที่ที่เหมาะกับเรา เพื่อเข้าไปร่วม contribute

Side note:

ปัจจุบัน (3/2022) ผมทำงานเป็น product designer อยู่ที่ NocNoc ซึ่งรู้สึกว่าเป็นที่หนึ่งที่ scenius มากๆเลยล่ะ

Reference:

Latest Posts

วิธีใช้ subgrid เพื่อให้เนื้อหา card เรียงกันแบบสวยๆ

สอนวิธีการใช้ subgrid เพื่อสร้าง card ที่มี layout ที่สวยงามและ flexible ได้ตามเนื้อหาที่ใส่เข้ามา

01 Jun 2024 • Marach T.

คู่มือเข้าใจ Burnout: เป็นที่เรา หรือเป็นที่งาน

เบิร์นเอาท์ (burnout) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายแต่รักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะมักเกิดจากปัจจัยทั้งภายใน (ตัวเราเอง) และภายนอก (งาน)

17 Feb 2024 • Marach T.

Design principle คืออะไร และช่วยทีมโปรดักอย่างไร

Design principle คือ หลักการที่ใช้ตัดสินใจในการออกแบบ product – ช่วยให้ทีมตัดสินใจได้เหมาะสมและรวดเร็ว

11 Jun 2023 • Marach T.

ดู Posts ทั้งหมด