ทำไม Designer พูดแล้วคนอื่นไม่ฟัง (และทำยังไงถึงจะเสียงดังขึ้น)

ดีไซน์เนอร์มักจะมีเสียงที่ "เบา" กว่าตำแหน่งอื่นๆ บทความนี้จะแนะนำวิธีที่ทำให้เสียง "ดัง" ขึ้น

Marach T.

19 Feb 2023


💡 ทำไมถึงสำคัญ

ดีไซน์เนอร์มักจะมีเสียงที่ “เบา” กว่าตำแหน่งอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุน product team ได้ดีเท่าที่ควร

บทความนี้จะพูดถึงวิธีการที่จะทำให้เรา “มีเสียง” ที่ดังพอ เพื่อทำให้ทีมทำงานด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

🙂 ใครควรอ่าน

  • ดีไซน์เนอร์ที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ถูกรับฟัง → จึงไม่สามารถสร้าง impact ให้แก่ทีมได้
  • ดีไซน์เนอร์ที่อยากทำงานในระดับที่สูงขึ้น → อยากมี impact มากขึ้น

ใน product team นั้น designer เหมือนจะเป็นล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร

จินตนาการถึงการทำงานใน product team ของ designer ท่านหนึ่ง

  • PM กับ Business บอกมาว่าอยากได้อะไร
  • พอ designer ออกแบบเสร็จก็จะโดนให้เปลี่ยนต่างๆนานา เช่น เรื่องความสวยงาม เรื่อง flow
  • Business ก็อยากเพิ่มของ (ฟีเจอร์ และ requirement ต่างๆ)
  • PM กับ Engineer ก็อยากตัดของ (ตาม scope, timeline, และ tech feasibility)
  • จุดจบของเรื่องคือ สุดท้ายก็ทำ solution ครึ่งกลางๆออกไป

ซึ่งแน่นอนว่า ระหว่างทาง designer จะพยายามให้ความเห็น + negotiate ทุกสิ่งอย่าง แต่สุดท้ายแล้วก็เหมือนจะไม่มีใครฟังอยู่ดี…

แน่นอนว่าพอเจอแบบนี้บ่อยๆเข้า บางคนอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คิดในใจว่าเราไม่มีพลังเลยรึนี่

ผมอยากจะซ้ำเติมคุณว่า

“ใช่ คุณเข้าใจถูกแล้ว สิ่งที่เราเจอกันนั้นเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ”

ซึมซับเข้าไปแต่อย่าพึ่งโกรธโลก

เรามาดูกันดีกว่าว่าทำไม

** อยากบอกว่าหลายบริษัทก็มี dynamic ในการทำงานร่วมกันที่ดีมากๆ จนไม่มีปัญหาลักษณะนี้แล้ว – แต่สำหรับบางคนที่ยังเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่ เราในฐานะ designer ต้องรู้จักพัฒนาตัวเองให้สถานการณ์ดีขึ้น!

🤔 ทำไม Business, PM, Engineers ถึงมี “เสียง”

เหมือนซูเปอร์ฮีโร่ → “พลัง(เสียง)ที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อม กับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”

ซึ่งความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในบริษัทนั้น จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่การรวมๆกันของ 3 อย่าง

  • ความสามารถในการทำเงิน
  • ความจับต้องได้ของผลงาน
  • การมีทักษะที่คนอื่นไม่มี

แน่นอนว่าทุกคน ทุกตำแหน่ง ย่อมมี 3 อย่างนี้รวมๆกันไป แต่ว่าบทความนี้จะขอพูดแบบเหมารวมประมาณนึง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายหน่อย

💼 Business + PM – “เสียง” ที่มากับ “ความสามารถในการทำเงิน”

Business กับ PM มักจะอยู่ใกล้กับ “เงิน” เป็นพิเศษ

  • Business มี KPI เป็นรายได้ หรือ กำไร ฯลฯ → ความสามารถในการทำเงิน
  • PM มี KPI เป็น metric ต่างๆ เช่น จำนวน user หรือ MAU แถมด้วย commitment ที่ต้องสร้างของใดๆ → ความสามารถในการทำเงิน + ผลงานที่จับต้องได้

ทั้งคู่มีคอพาดอยู่บนเขียง (รับผิดชอบเต็มๆ) ก็เลยได้มีเสียงที่ดังมาก (เป็นพลังที่ top management + investor มอบมาให้) จึงมักเป็นผู้ตัดสินใจแล้วให้ตำแหน่งอื่นๆทำตาม

🛠 Engineer – “เสียง” ที่มากับ “การมีทักษะที่คนอื่นไม่มี”

Engineer เป็นคนที่ผลงานจับต้องได้ที่สุด คือ เป็นคนลงมือสร้าง solution (งานเสร็จไม่เสร็จ ดีไม่ดี ทุกคนจะเห็นได้ชัดเจน)

Engineer ยังมีทักษะ tech expertise ที่ตำแหน่งอื่นๆต้องพึ่งพา

  • ให้ความเห็นเรื่อง tech feasibility – solution สามารถทำได้มั้ย
  • ให้ความเห็นเรื่อง effort – ใช้เวลาในการทำนานมั้ย

Engineer จึงเป็นตำแหน่งสำคัญสุดๆในการสร้าง solution ให้เกิดขึ้น จึงมักเป็นผู้นำการตัดสินสิ่งที่อยู่ใน solution space (โดยเฉพาะ detail ลึกๆต่างๆ)

แล้วทำไม designer เสียงเบา?

อย่างที่เรารู้กัน งานของ designer นั้นมีประโยชน์นะ!

  • เราทำ research/testing เราจะรู้ว่า solution นี้ดีมั้ย → ช่วยประหยัดเงินให้กับบริษัท (ไม่สร้างสิ่งที่ไม่จำเป็น)
  • เราออกแบบ solution ที่เหมาะกับลูกค้า → ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ กลับมาใช้บ่อยๆ → ช่วยทำเงินกับบริษัท

แม้ metric จะมีความคล้ายกับ PM/Business แต่เรากลับไม่ได้เสียงดังเหมือนเขา?

เราไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบโดยตรง

คือถ้า solution ไม่ดี → business กับ PM ต้องรับหน้าไป → เขาต้องคุยกับ stakeholder + management ใดๆ ไม่ใช่เราโดยตรง

เราการันตีไม่ได้ว่า สิ่งที่เราออกแบบมาจะปัง

แม้ว่าเราจะ research มากขนาดไหน, test ขนาดไหน, หรือออกแบบให้สวยใช้ง่ายขนาดไหน → เราก็ไม่รู้ว่าจะปังมั้ย(จะทำเงินมั้ย) จนกว่าจะปล่อยออกไปจริง

เราสร้าง deliverable ที่อยู่กลางทาง

เราสร้างสิ่งที่ลูกค้าจริงจะไม่ได้เห็น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • research ที่สุดละเอียด
  • concept ของ feature ที่ดี
  • UI บน Figma ที่สวย
  • prototype ที่ดู real

การที่ solution จะเสร็จให้ลูกค้าได้จริง เราต้องพึ่ง engineers ไปทำต่ออยู่ดี

ทักษะของเรามัน(เหมือน)เข้าถึงง่าย

ไม่ใช่ว่าทุกตำแหน่งจะทำงาน designer ได้ (โดยเฉพาะทำให้ดี) แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนสามารถ comment งานเราได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ผล research
  • ความง่ายในการใช้งาน
  • ความสวยงาม

ต่างกับ engineers ที่มี tech expertise ลึกๆที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง

‼️ สรุปคือ designer ทำงานที่สำคัญ แต่ว่าไม่ได้มีความรับผิดชอบสูงเท่าตำแหน่งอื่นๆ = “เสียงไม่ดัง”

designer เป็นตำแหน่งที่สำคัญ และมี impact มากๆ (ไม่ต่างจากตำแหน่งอื่นใน product team)

ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งอื่นๆก็สำคัญเช่นกัน และมีความรับผิดชอบที่มากกว่าเรา → ทำให้เขา “เสียงดัง” ไปตามกลไกของบริษัท (ในอีกนัยนึงก็คือ มี authority มากกว่า)

แต่ “เสียงไม่ดัง” ก็ไม่ใช่ permanent state → เราสามารถฝึกให้ตัวเองเสียงดังขึ้นเรื่อยๆได้

ทำยังไงให้ designer เสียงดังขึ้น

การทำให้เราเสียงดังขึ้นมันเป็น long game คือ ใช้เวลา และ ต้องทำตลอดชีวิตการทำงานของเรา

แก่นของเสียงที่ดัง มาจาก ความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันที่ดี โดยสามารถทำได้ตามนี้

  1. ห้ามดราม่า
  2. เข้าใจคนอื่น และสื่อสารให้เหมาะ
  3. ทำให้ทุกคนทำงานกันง่าย

1. ห้ามดราม่า

พอเสียงไม่ดัง หลายคนอาจจะดราม่าโดยไม่รู้ตัว เช่น

  • aggressive / protective เมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น
  • gossip กับเพื่อนของเรา ถึงความไม่ดีของบุคคลหรือบริษัท
  • “ทำตามสั่งไปวันๆ” ไม่พยายามรับผิดชอบร่วม (เป็นแบบว่าดราม่าเงียบ)
  • มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อตลอดเวลา

เราอาจมีอาการเหล่านั้นบ้าง (เราเป็นคน!) แต่ต้องฉุกคิดว่าเราเป็นบ่อยขนาดไหน

ที่สำคัญ ดราม่า เป็นอะไรที่เผลอทำได้บ่อยๆ แต่ว่ามักมีผลกระทบภายหลังที่รุนแรง

  • aggressive + gossip → สร้างความอึดอัด เพื่อไม่อยากทำงานด้วย เกิดการเมือง
  • ทำตามสั่ง → งานไม่ดีต้องกลับมาแก้ + ผลงานเราไม่ดี (มีผลกับการประเมิน และ portfolio เราเวลาจะไปสมัครงานในอนาคต)
  • มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ → burnout อยากลาออกไปทำงานอย่างอื่น

ดังนั้นขั้นแรกสุดต้องเลิกดราม่าก่อน จินตนาการว่าเรากำลังสูดหายใจลึกๆ เซฟแรงไว้รอปล่อยพลังเสียง

2. เข้าใจคนอื่น และสื่อสารให้เหมาะ

Designer ต้อง “พึ่ง” คนอื่นในการสร้าง impact

  • พึ่ง Business, PM ในการตัดสินใจทำของ
  • พึ่ง Engineers ในการลงมือสร้างของ

ซึ่ง “พึ่ง” ไม่ใช่ depend on แต่ว่าเป็น collaboration เพื่อสร้าง impact ร่วมกัน ดังนั้นการเข้าใจกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

ถ้าจะ collab กับใครให้ดี เราควรคำนึงถึงสามอย่าง

  • คนนั้นเขาแคร์อะไร (KPI)
  • คนนั้นเขารับผิดชอบอะไร (Responsibility)
  • คนนั้นเขาทำงานแบบไหน (Expertise & working style)

ตรงนี้ผมเลือกใช้คำว่า “คน” แทนคำว่า “ตำแหน่ง” เพราะว่าแม้จะตำแหน่งเดียวกันก็อาจจะมีวิธีการทำงานที่ต่างกันได้

💼 ตัวอย่างทำงานกับ Business/ PM ท่านหนึ่ง

  • แคร์: เงิน, จำนวน user, timeline, หน้าตาบริษัท
  • หน้าที่: จัดการ stakeholder
  • วิธีการทำงาน: เห็นภาพใหญ่ พูดเก่ง ขายเก่ง ชอบคุย

เวลาทำงานด้วย เราอาจจะลอง:

  • แคร์จำนวน user → ทำ Testing มาก่อนแล้ว frame ในมุมของลูกค้า เช่น drop off ของลูกค้าจะลดลง XX%
  • ต้องจัดการ stakeholder → พยายามเข้าใจว่า stakeholder ของเขาต้องการอะไร และนำมาประกอบใน solution ถ้าเป็นไปได้ (การที่เขาต้องรับหน้าคนอื่น คือ มีความเครียดสูงมากนะ)
  • ชอบคุย + ชอบภาพใหญ่ → เราลง detail ที่พอเหมาะเวลาคุยกะเค้า, เราช่วยถามคำถามเพื่อให้งานชัดเจน, เราช่วยเค้าสรุปประเด็นเวลาประชุมกัน,

🛠 ตัวอย่างทำงานกับ Engineer ท่านหนึ่ง

  • แคร์: ทำงานได้อย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ
  • หน้าที่: ทำงานให้เสร็จทัน release, ทำสิ่งที่มีคุณภาพเพื่อ maintain ได้
  • วิธีการทำงาน: logical, ลงรายละเอียด, Technical ลึก, พูดน้อย

เวลาทำงานด้วย เราอาจจะลอง:

  • อยากทำงานเร็ว → มี Framework อะไรที่เขาใช้อยู่ หรือสามารถใช้ได้ เพื่อลดเวลาการทำมั้ย?
  • Logical → คิด solution อย่างเป็นระบบ สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้
  • ทำงานที่มีคุณภาพ maintain ง่าย → เข้าใจว่า business road map ต่อ solution นี้เป็นยังไง + พูดถึงเคสต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต, ใช้ reusable component เยอะๆ
  • Techinical ลึก → เมื่อเราไม่เข้าใจ ขอให้เค้าอธิบายและตั้งใจฟัง (อย่าลืมขอบคุณเค้าด้วย!)
  • ลงรายละเอียด → ช่วยกันทำเคส แตกเคส ออกมาให้เห็นภาพรวม, ทำ error state, empty state ต่างๆ

พอเราเข้าใจคนอื่น → เราจะสามารถสื่อสารกับคนอื่นง่าย → ทำให้ความสัมพันธ์โดยรวมดีขึ้น → มีการรับฟังกันมากขึ้นแบบมวลรวม

ทำให้ทุกคนทำงานกันง่าย

ในทุกๆ interaction ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน เราควรปฏิบัติด้วย goal

  1. ทำยังไงให้ตำแหน่งอื่นๆทำงานได้ง่ายขึ้น
  2. ทำยังไงให้ product / บริษัท ของเราประสบความสำเร็จ

🤲 ช่วย facilitate ให้กับทีม

designer มักจะไม่ได้รู้ดีที่สุด แต่มักจะ empathize คนอื่นได้ดีที่สุด จึงทำให้เราเข้าใจทุกคนและสถานการณ์ที่เราอยู่ได้ง่ายๆ

เราสามารถค่อยๆเพิ่มเสียงของเราได้ ผ่านการช่วยทีม:

  • แปลภาษาเวลาที่คนในทีมเข้าใจไม่ตรงกัน
  • ช่วยถามคำถามในมุมมองคนที่ไม่รู้ context มาก่อน
  • ย้ำข้อมูลสำคัญ ว่าใครต้องการอะไร (เช่น KPI, problem, solution, next action ต่างๆ)

🍌 ทำให้ design ย่อยง่าย

ทุกครั้งที่เราจะสื่อสารอะไร ให้พยายามอธิบายชัดเจนว่า → เราทำอะไร,ใช้ทักษะ design อะไร, ช่วยให้ทีมบรรลุ goal อย่างไร เช่น

  • เราเลือกจะทำปุ่มไซส์ใหญ่ในตำแหน่งนี้
  • เพราะว่าปุ่มที่ใหญ่และใกล้ user จะทำให้เขา take action ง่ายกว่า (Fitt’s law)
  • เราคาดหวัง user จะ signup มากขึ้น

ตอนพูดถึงอะไรเกี่ยวกับ design อย่าลืมปรับคำให้ง่าย กระชับ ใช้เวลาน้อย เพื่อให้คนรอบข้างเก๊ทง่ายๆ พอคนเริ่มสนใจค่อยปรับให้มันเข้ม + มากขึ้น

🙇🏻️ ยอมรับและทำเต็มที่

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน เราก็ไม่ใช่คนที่มีอำนาจในการตัดสิน แต่เป็นแค่คนให้ความเห็นหนึ่งคน

สิ่งที่ควรคิดเสมอคือ

  • ทีมควร execute ไอเดียที่ดีที่สุด (ซึ่งอาจไม่ใช่ไอเดียเรา หรือไอเดียเราเป็นส่วนเล็กในนั้นก็ได้)
  • คนอื่นอาจจะมีมุมมองที่เราคิดไม่ถึง หรือไม่เข้าใจก็ได้
  • เราควร commit ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แล้วลงมือเต็มที่

ที่สำคัญคือ ถ้าไอเดียไม่สำเร็จเท่าที่ควรห้ามพูดว่า “เห็นมั้ย…” หรือ “บอกแล้ว…” เด็ดขาด!

ท่องไว้ว่าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือทำงานที่ดีออกมา (บริษัทจะได้ทำเงิน → มาเงินจ่ายเงินเดือนเรา 😂)

สิ่งเหล่านี้เป็น long game ที่ต้องทำตลอดชีวิตของดีไซน์เนอร์… อาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆแน่นอน

เหมือนกับเปล่งเสียงเรื่อยๆ กล่องเสียงเราจะแข็งแรง จนจุดหนึ่งเสียงเราจะดังเองพอให้คนอื่นๆได้ยินเอง

สรุป

ในการทำงานใน product team นั้น ดีไซน์เนอร์มักจะเสียงไม่ค่อยดังเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งแม้จะรู้สึกแย่ แต่มันก็เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบ (ตามกลไกบริษัท)

แต่การที่ “เสียงไม่ดัง” ก็ไม่ได้แปลว่าเรา”ไม่มีพลัง” เพราะทักษะของเราเป็นปัจจัยสำคัญอันนึง ที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จ

ถ้าทีมไม่ได้ยินเสียงเรา อย่ารู้สึกแย่ แต่จงยอมรับในสถานการณ์ แล้วค่อยๆสร้างเสียงของตัวเองให้ดังขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ดราม่า เข้าใจและยอมรับคนอื่น ทำให้ทุกคนทำงานกันง่าย

วันนึงเสียงเราจะดังจนทุกคนฟัง และเรียกร้องจะฟังจากเรา

💡 Key takeaway

  • ดีไซน์เนอร์มักไม่ค่อยมีเสียงใน product team
  • ที่ไม่มีเสียงเพราะความรับผิดชอบของดีไซน์เนอร์นั้นต่ำ เมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่น
  • เป็นหน้าที่ของดีไซน์เนอร์ที่จะต้องสร้างเสียงตัวเองให้ดังขึ้น
  • คิดเสมอว่า ห้ามดราม่า เพราะจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง
  • พยายามทำความเข้าใจตำแหน่งอื่นๆ และสื่อสารในมุมที่คนเหล่านั้นเข้าใจ
  • พยายามให้คนรอบข้างทำงานง่าย ด้วยการ facilitate, ทำให้ design ย่อยง่ายขึ้น, ยอมรับในการตัดสินใจและทำให้เต็มที่
  • การสร้าง “เสียง” ใช้เวลา ต้องคอยทดลอง และทำไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จบ

Latest Posts

วิธีใช้ subgrid เพื่อให้เนื้อหา card เรียงกันแบบสวยๆ

สอนวิธีการใช้ subgrid เพื่อสร้าง card ที่มี layout ที่สวยงามและ flexible ได้ตามเนื้อหาที่ใส่เข้ามา

01 Jun 2024 • Marach T.

คู่มือเข้าใจ Burnout: เป็นที่เรา หรือเป็นที่งาน

เบิร์นเอาท์ (burnout) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายแต่รักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะมักเกิดจากปัจจัยทั้งภายใน (ตัวเราเอง) และภายนอก (งาน)

17 Feb 2024 • Marach T.

Design principle คืออะไร และช่วยทีมโปรดักอย่างไร

Design principle คือ หลักการที่ใช้ตัดสินใจในการออกแบบ product – ช่วยให้ทีมตัดสินใจได้เหมาะสมและรวดเร็ว

11 Jun 2023 • Marach T.

ดู Posts ทั้งหมด