ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยู่ในโลกที่มีแต่คนเก่งๆ
ไม่ว่าจะมองไปรอบตัว ไถ social หรือดู youtube ก็จะเจอแต่คนที่สุดเก่งไปเสียหมด
บางทีก็แอบคิดว่า
- เราจะเก่งเหมือนคนเหล่านั้นได้มั้ยนะ
- เราจะสร้างผลงานดีๆเหมือนคนเหล่านั้นได้มั้ยนะ
ความคิดนี้อาจจะดูเหมือนผมน้อยเนื้อต่ำใจและตัดพ้อ
แต่มันทำให้ผมตามหาวิธี จนได้รู้จักกับคอนเซปท์ของ Scenius ที่ทำให้ผมเข้าใกล้ความ “เก่ง” ขึ้นมาก
จาก Genius (อัจฉริยะ) สู่ Scenius (อัจฉริยะระดับกลุ่ม)
คำว่า Genius มีรากศัพท์มาจากคำว่า Gene คือ เกิดมาเก่งเพราะหน่วยพันธุกรรมที่ตัวเองได้รับมา → คือ คนเกิดมาเก่งเลย สร้างผลงานได้ดีเลย
Scenius มีรากศัพท์มาจากคำว่า Scene คือ อัจฉริยะคือสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม → คือ กลุ่มคนที่เก่งและสร้างผลงานได้ดี เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่คอยช่วยเหลือและแข่งขัน จนทำให้กลุ่มคนนั้นเกิดสภาวะอัจฉริยะ
เช่น
- ทีมดีไซน์ในที่ทำงาน ที่คอยรีวิวงานกัน จนผลงานออกมาดี
- นักศึกษา ป. โท ที่แลกเปลี่ยน case study กัน จนทำได้มุมมองใหม่ๆ
- คนใน community programmer ที่แบ่งปันเครื่องมือและวิธีการทำงานกัน จนได้วิธีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น
จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าเราดูแค่ที่ตัวบุคคล เราจะรู้สึกว่าคนๆนั้นเก่ง (ผลงานดีไซน์เนอร์คนนี้ดีจัง เขาต้องเก่งมากแน่ๆ) ทั้งที่ความจริงสภาวะแวดล้อมเป็นตัวแปรที่สำคัญ (ทีมดีไซน์ช่วยกันรีวิวจนทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ)
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแค่อยู่กันเป็นกลุ่มแล้วจะเป็น Scenius
จะเห็นว่า Scenius มาได้ในหลายรูปแบบและอยู่รอบตัวเรา แต่นั้นก็ไม่ได้แปลว่าทุกกลุ่มเป็น Scenius
ทีมดีไซน์บริษัท A ที่ริวิวงานกันอาจจะเป็น Scenius
ในขณะที่ทีมดีไซน์บริษัท B ที่ริวิวงานกันอาจจะเป็นแค่สิ่งแวดล้อมที่ toxic ที่ไม่ได้พัฒนาใครเลย
มันยากที่เราจะหา Scenius เจอจากการมองภายนอก วิธีเดียวคือต้องลองเข้าไปอยู่
ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีว่าเราอยู่ใน Scenius แล้ว
Scenius มีหน้าตายังไง
Scenius เกิดจาก คนที่มีความสนใจหรือจุดประสงค์เดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีคุณสมบัติ 4 ข้อ
1. มีแรงกดดัน (เชิงบวก)
คือ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดแรงกดดันซึ่งกันและกัน จนทำให้คนในกลุ่มอยากที่จะพัฒนาไปด้วยกัน
เช่น
- ในกลุ่มมีคนที่เป็นคนเก่งมาก ทำให้เราประทับใจและอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น (แข่งขันกันแบบ healthy)
- ในกลุ่มมีคนที่มีน้ำใจ แคร์คนอื่น ทำให้เราอยากสนับสนุนคนอื่นในลักษณะเดียวกัน
แรงกดดันจะดีก็ต่อเมื่อคนในกลุ่มรู้สึกปลอดภัย ทุกคนสามารถลงมือได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลเสียแก่ตัวเอง
2. แลกเปลี่ยนความรู้และเครื่องมืออยู่เสมอ
เมื่อคนที่มีความสนใจเดียวกัน จะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ในกลุ่มพัฒนาขึ้น
เช่น
- กลุ่มชอบนักร้องเกาหลี มีคำศัพท์ที่รู้กันในวงใน สอนท่าเต้นกันและกัน คอยแบ่งข้อมูลกิจกรรมต่างๆของเมนที่เราชอบ
- กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรม มีจัด meetup เจอกันเพื่อแลกเปลี่ยน framework หรือ tool ใหม่ๆ
การแลกเปลี่ยนทำให้เกิดมุมมองใหม่และการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายขึ้น
3. มีอิสระที่จะแตกต่าง
คือ กลุ่มสามารถทำอะไรที่แปลกใหม่ได้โดยไม่มีการบังคับจากปัจจัยภายนอกมากเกินไป
เช่น
- โปรดักทีมทดลองทำวิธีการทำงานใหม่ๆที่อาจจะไม่เคยทำมาก่อน
- ดีไซน์ทีมสามารถ discovery idea หรือเสนอสิ่งใหม่ๆได้ โดยไม่ได้ถูกบังคับว่า solution ต้องเป็นอย่างไร
ไม่ได้แปลว่าจะอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ว่าต้องอิสระมากพอที่จะให้ลองทำบ้าง
การทำสิ่งที่แหวกกฏเกณฑ์ จะสนับสนุนคนในกลุ่มกล้าทดลองจนทำให้เกิดไอเดียแปลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม
4. สำเร็จร่วมกันเป็นหมู่คณะ
คือ พอคนช่วยเหลือกันในกลุ่ม (ทำ 1-3 เยอะๆ) ทำให้อัตราความสำเร็จมันสูงขึ้น และเมื่อมีคนทำสำเร็จทุกคนก็จะรู้สึกดีใจร่วมกัน
และในทางกลับกัน พอเกิดความสำเร็จที่เยอะขึ้น ก็จะยิ่งยุให้ 1-3 ดีขึ้นได้อีก
- แรงกดดันเชิงบวก (1) จะมากขึ้น เพราะมีคนที่ทำสำเร็จให้ inspire เราอีก
- การแลกเปลี่ยนความรู้ (2) จะมากขึ้นเพราะ คนสำเร็จก็มี case เล่าให้ฟัง หรือพอคนเห็นว่าความรู้ที่มีการแชร์มันสร้างประโยชน์ได้คนก็ยิ่งอยากแชร์
- มีอิสระที่จะแตกต่าง (3) มากขึ้น เพราะ กลุ่มได้รับการยอมรับจากผลงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้น
Scenius เกิดขึ้นได้ยังไง
ปัจจัยที่สำคัญในการเกิด Scenius คือ Pioneer (ผู้บุกเบิก)
ผู้บุกเบิกในที่นี้อาจจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ที่ทำให้กลุ่มมีคุณสมบัติ 1-4 ที่บอกไป เช่น
- กลุ่มนี้มีผู้บุกเบิก 3 คน
- คนนึงเป็นคนมีประสบการณ์ชอบแชร์ความรู้
- อีกคนเป็นคนมี authority สูง และ network ที่ดี คอย Empower คนในทีมมีอิสระและทรัพยากรในการทำงาน
- อีกคนเป็นคนชอบจัดการ celebrate ให้ทุกคนดีใจร่วมกัน
หรือจะเป็นกลุ่มที่มีผู้บุกเบิกคนเดียวแบบ all-in-one เลยก็ได้
ผู้บุกเบิกเป็นเหมือนต้นแบบของกลุ่ม สมาชิกอื่นที่ค่อยๆเข้ามาร่วมจะเห็นแนวทางเพื่อหาวิธี contribute ให้กับกลุ่มในแบบของตัวเอง
ประเด็นคือ เราไม่สามารถเร่งสร้าง Scenius ขึ้นมาได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนในกลุ่ม ไม่ใช่แค่ผู้บุกเบิกเท่านั้น
หน้าที่ของผู้บุกเบิก คือ ช่วยกันทำให้คุณสมบัติ 1-4 เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนอื่นๆอยากที่จะมาร่วม จนกระทั่งคุณสมบัติ 1-4 นั้นเกิดได้เองในกลุ่ม
มาเป็น Scenius กันเถอะ!
สำหรับคนที่อยากพัฒนาตัวเองไปเป็น scenius เราสามารถลงมือได้ตอนนี้เลย
เริ่มด้วยการตั้งเป้าว่าเราอยากเก่งอะไร
วางให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราอยากเก่งขึ้น อาจจะเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงาน หรือเป็น passion ที่อยากทำก็ยิ่งดี
เป็น pioneer ในทุกที่และทุกวัน
เมื่อเรามีเป้าแล้ว เราก็อย่าอายที่จะแสดงออกว่าอินกับสิ่งนั้นๆ และพาคนอื่นอินไปกับเราด้วย
- บอกคนอื่นว่าเราอินอะไร
- ถ้าเจอคนเก่ง เข้าไปขอคำแนะนำจากเค้า
- ถ้าเจอคนที่สนใจเหมือนๆเรา คุยและแบ่งปันประสบการณ์
- คอยสนับสนุนคนอื่นเสมอๆ ทั้งในด้านทักษะ หรือความรู้สึก
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกสนใจในสิ่งเดียวกับเรา แต่การเป็น pioneer ตลอดเวลา จะทำให้ (1) ตัวเราพัฒนาขึ้น และ (2) เจอคนที่สนใจเหมือนเรามากขึ้น
เผลอๆ เราอาจจะสร้างกลุ่มที่เป็น scenius ขึ้นมาเองโดยไม่รู้ตัว
ตามหาที่ที่เหมาะกับเรา - อยู่ในที่ที่เหมาะ
สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิด scenius ดังนั้น เราควรจะหาที่ที่
- คนมีความสนใจแบบเดียวกัน (หรือมีเป้าหมายร่วมกัน)
- มีเคมีที่เข้ากันได้
วิธีเดียวที่จะรู้ได้ว่าเหมาะกับเราจริงมั้ย คือเข้าไปร่วมและ contribute
อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้เราเจอคนอื่นๆได้ง่ายขึ้น อย่ากลัวที่จะลองเข้ากลุ่มต่างๆ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆถ้ายังรู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา
เราแค่ต้องตามหาไปเรื่อยๆ เราจะเจอที่ๆเรารู้สึกเหมาะสมเอง
คอนเซปต์ของ scenius ทำให้ผมพัฒนาได้ไวขึ้น
ผมชอบดีไซน์และโค้ดมาก แต่รู้ตัวว่าไม่ได้เป็นคนเก่ง ก็เลยไม่อยากทำให้คนอื่นเห็น ไม่อยากคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น
แทนที่จะคุยกับชาวบ้าน เราเอาเวลามาฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้นจะดีกว่า ซึ่งผมก็เชื่อว่าผมค่อยๆเก่งขึ้นทุกวัน
แต่พอเข้าใจแนวคิดของ scenius มันเสริมให้ผมพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก
ผมลองเปลี่ยนตัวเองเป็น pioneer และเริ่มเห็นผลลัพธ์ของแนวคิดนี้
- ได้สร้างงานดีๆขึ้นมา ผ่านการ bounce idea และลงมือกับคนรอบข้าง
- ได้แชร์ประสบการณ์ให้คนที่สนใจเรื่องแบบเดียวๆกัน
- ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน
ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ได้รู้สึก comfortable ขนาดนั้น (ผมเป็น introvert จัดๆ)
แต่ผมรู้สึกว่าผมพัฒนาเร็วขึ้นมาก และดีใจที่เริ่มสร้างงานดีๆออกมาได้ แม้ว่าจะไม่ได้อัจฉริยะมาแต่เกิดก็ตาม
…
Key takeaways:
- Scenius คือ อัจฉริยะแบบกลุ่ม (สิ่งแวดล้อมมีผลให้เป็นอัจฉริยะ)
-
Scenius มีคุณสมบัติ 4 อย่าง
- มีแรงกดดันเชิงบวก
- มีการแลกเปลี่ยนความรู้แลเครื่องมืออยู่เสมอ
- มีอิสระที่จะแตกต่าง
- มีความสำเร็จร่วมกันเป็ฯหมู่คณะ
- ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Scenius คือต้องมี Pioneer (ผู้บุกเบิก) ที่คอยสร้างคุณสมบติข้างต้นให้เกิดขึ้นในกลุ่ม
-
เราทุกคนสามารถเป็น Scenius ได้ โดย
- ตั้งเป้าว่าเราอยากเก่งอะไร
- เป็น pioneer ในสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้า ในทุกที่ทุกเวลา
- ตามหาที่ที่เหมาะกับเรา เพื่อเข้าไปร่วม contribute
…
Side note:
ปัจจุบัน (3/2022) ผมทำงานเป็น product designer อยู่ที่ NocNoc ซึ่งรู้สึกว่าเป็นที่หนึ่งที่ scenius มากๆเลยล่ะ
…
Reference: