เมื่อพูดถึงคำว่า”คนฉลาด” เรามักจะนึกถึงคนที่
- ทำงานเร็ว
- เรียนรู้สิ่งใหม่เร็ว
- คิดถึงสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง
บทความนี้จะอธิบายว่า “กลไกของความฉลาด” เป็นยังไง
สำคัญกว่านั้นคือ เราก็ฉลาดได้ → แค่เข้าใจวิธีการ และลงมือทำแบบถูกต้อง
เนื้อหาในบทความนี้
- การทำงานของสมอง
- กลไกของความฉลาด
- วิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง (ไม่เหนื่อยและได้ผลเยอะ)
*ต้นทางของข้อมูลมาจาก คอร์ส Learning how to learn ซึ่งเป็นคอร์สฟรีใน Coursera → โดยบทความนี้จะไม่ได้สรุปเนื้อหา แต่ว่านำเนื้อหาบางส่วนที่ผมรู้สึก inspired มาเรียบเรียงใหม่ครับ*
การทำงานของสมอง
สมองเราเป็น “โกดังข้อมูล” ที่มี “พนักงานดูแล”
เมื่อเราต้องการข้อมูล → เราไปที่โต๊ะพนักงาน → บอกพนักงานว่าอยากได้อะไร → พนักงานไปเอาข้อมูลมาวางให้บนโต๊ะ → เราดูข้อมูลเหล่านั้น
- พนักงาน = กลไกของสมองในการดึงข้อมูลมาใช้
- โต๊ะ = ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory)
- โกดังเก็บข้อมูล =ความทรงจำระยะยาว (Long term memory)
โต๊ะพนักงาน (Working memory)
- พื้นที่ที่เราสามารถใช้ข้อมูลได้
- มีพื้นที่จำกัด
โกดัง (Longterm memory)
- เราใช้ข้อมูลตรงนี้โดยตรงไม่ได้
- เราให้พนักงานไปหยิบข้อมูลให้เราได้
- มีพื้นที่กว้าง เก็บข้อมูลได้เยอะ
ความฉลาดเกิดจาก (1) มีข้อมูลที่ดีอยู่ในโกดัง (2) พนักงานหยิบมาให้บนโต๊ะได้อย่างรวดเร็ว
สมองมี 2 โหมด: ตั้งใจ / ปล่อยไหล
สมองมี 2 โหมด
- Focus = จดจ่อตั้งใจ
- Diffuse = ชิวๆปล่อยไหลไปเรื่อย
ซึ่งเราจะเปิดได้ทีละโหมดเท่านั้น เปิดพร้อมกันไม่ได้!
Focus mode
โหมดนี้เกิดเมื่อเราตั้งใจทำงาน → กลไกในสมองคือ เราสั่งพนักงานด้วยเสียงเคร่งขรึม ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร
พนักงานจะตั้งใจ และรีบดึงข้อมูลที่เราถนัดออกมาใช้ได้ได้อย่างรวดเร็ว → เหมาะแก่การทำงาน + แก้ไขปัญหาตรงหน้าให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว
เน้นว่าโหมดนี้จะใช้ “ข้อมูลที่เราถนัด” เท่านั้น ถ้าเจอโจทย์ที่ยากเกินกว่าความถนัดของเรา เช่น ปัญหาใหม่ๆที่ซับซ้อน โหมดนี้ก็จะคิดไม่ออก → เราควรใช้สมองอีกโหมดแทน
Diffuse mode
โหมดนี้เกิดเมื่อเราผ่อนคลาย (ไม่ได้คิดเรื่องงาน - เช่น พักผ่อน อาบน้ำ เดินเล่น นั่งรถเล่น ) → กลไกในสมองคือ เราเปรยถึงปัญหาเราให้พนักงาน แต่ก็ไม่ได้บอกชัดว่าต้องการอะไร
ในโหมด Diffuse = พนักงานฟังเสร็จ ก็จะชอบไปเดินเล่นทั่วโกดัง และอาจจะเจอข้อมูลสำคัญหรือจุดเชื่อมโยงใหม่ๆมาแก้ปัญหา → เหมาะแก่การคิด/แก้ปัญหาที่ซับซ้อนที่เราคิดไม่ออก + การสร้างไอเดียอะไรใหม่ๆ
ตรงนี้ค่อนข้างว้าว! เพราะว่าเราไม่ได้พยายามคิด (จินตนาการเรานั่งเหม่อๆ หรือกำลังเดินทอดน่องในสวนลุม) แต่ว่าในสมองกลับทำงานอยู่แบบไม่รู้ตัว
ซึ่งก็มีคนเก่งๆบางคนก็ใช้กัน
- Thomas Edison (คนคิดค้นหลอดไฟ) → นั่ง/นอนผ่อนคลายโดยถือลูกบอลไว้ในมือ → เข้า Diffuse mode → พอเผลอหลับบอลก็ตกพื้น → ตื่น → มีไอเดียเพิ่ม → ทำงานต่อ
- Salvador Dali (ศิลปินที่วาดภาพนาฬิกาเหลว + เป็นหน้ากากในเรื่อง Money Heist) ทำคล้ายๆคนข้างบน แต่ว่าใช้กุญแจแทน
(จริงๆที่เค้าทำกันเพราะเรื่องประหยัดเวลานอน… แต่ได้ diffuse mode มาเป็นของแถมเฉยเลย)
คนฉลาดใช้สองโหมดเสริมกัน
คนฉลาด = คนสลับ mode ได้ดี = ดึงความรู้จากทุกซอบหลืบในโกดังออกมาใช้งานได้ตามสถานการณ์
แต่ key คือ คนฉลาดต้องมีความรู้ในโกดังที่มากพอด้วย → เรามาดูวิธีการทำงานของโกดังกัน
โกดังความรู้ = มีพนักงานในการใส่ข้อมูล + มีแม่บ้านในการทำความสะอาด
การใส่ความรู้เข้าโกดัง = การเรียนรู้ = กลไกของสมองที่เปลี่ยนจาก “ข้อมูลที่กระจัดกระจาย” ให้กลายเป็น “ก้อนความรู้” ไว้เก็บในโกดัง
จินตนาการว่าพนักงานมาจัดข้อมูล → โดยก้อนความรู้จะถูกเก็บไว้ ส่วนข้อมูลไม่สำคัญก็จะถูกแยกออกมาเพื่อรอไปทิ้งในตอนกลางคืน
ในตอนกลางคืน “แม่บ้าน” จะมาทำความสะอาดโกดังให้
แม่บ้าน = อีกกลไกที่คอยดูแลโกดัง → มีหน้าที่ในการ (1) เอาข้อมูลที่ไม่สำคัญไปทิ้ง (2) ลดความเครียด
ตอนเราหลับ → แม่บ้านทำความสะอาด → สมอง fresh → พร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่ในวันรุ่งขึ้น
ข้อจำกัดของการสร้าง long term memory → ไม่สามารถรับข้อมูลเข้าไปเยอะๆในทีเดียวได้
ทั้งพนักงานและแม่บ้านมีพลังงานที่จำกัด
เวลาเราอัดข้อมูลเข้าไปเยอะๆในเวลาสั้นๆ (เรียนก่อนสอบหนึ่งคืน ไปเทคคอร์สแบบเข้มข้นไม่พัก)
- พนักงานปั้นก้อนข้อมูลไม่ทัน → ข้อมูลยังปนๆกันอยู่ไม่ได้แยกให้เสร็จระหว่างวัน
- แม่บ้านตกใจเพราะโกดังรก → ทำความสะอาดเมื่อหมดวัน
- ข้อมูลสำคัญถูกทิ้ง
วิธีที่ดีกว่าก็คือ การใส่ข้อมูลทีละน้อย แต่ใส่บ่อยๆ (อ่านหนังสือเป็นประจำทุกวัน ทำแบบฝึกหัดทุกวัน) เช่น แทนที่จะเรียนวันเดียว 10 ช.ม. → เราเรียน 1 ช.ม. 10 วันดีกว่า
Chunking = การปั้นข้อมูลให้เป็นก้อนความรู้ และนำไปเก็บไว้ในโกดัง
การจัดข้อมูลของพนักงานนั้น เรียกว่า “Chunking” → จินตนาการว่าเขาทำสองอย่างคือ
- ปั้นข้อมูลเป็นก้อนๆให้แยกจากข้อมูลไม่สำคัญ → กลายเป็นก้อนความรู้ (เรียกว่า chunk)
- เอา chunk ไปวางไว้ในโกดังให้เป็นสัดส่วน
จากนั้น เราก็จะสามารถเรียก chunk เหล่านี้มาใช้งานได้
ในการ Chunking เราต้อง
- Focus – จดใจจดจ่อ
- Understand – ทำความเข้าใจ
- Recall – เรียกข้อมูลมาใช้บ่อยๆ
Focus = ต้องจดจ่อ
พาตัวเองไปอยู่ที่สงบๆ + ปิดพวก distraction ต่างๆ (ทีวี มือถือ notification เพลง ฯลฯ)
รวมพลังทั้งหมดที่มีไปที่สิ่งที่เรากำลังเรียน → เป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานพร้อมเริ่มจัดการข้อมูล
Understand = พยายามทำความเข้าใจข้อมูล
ข้อมูลที่เราไม่เข้าใจ → ข้อมูลกระจัดกระจาย (จัดเก็บยาก)
การทำความเข้าใจ = พนักงานจัดกลุ่มข้อมูลให้ถูกต้อง → ทากาวให้เป็นก้อนเดียวกัน → นำไปจัดเก็บ → ข้อมูลพร้อมถูกนำไปใช้เป็นชุด
การทำความเข้าใจมีหลายเทคนิคมากๆ เช่น การใช้การเปรียบเปรย (analogy) เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น → อย่างบทความนี้ เราก็เอาเรื่องพนักงาน แม่บ้าน โกดัง มาอธิบายเรื่อยการทำงานของสมอง
(ยังมีเทคนิคต่างๆอีกเยอะแยะ ไว้เดี๋ยวเขียนบทความถัดๆไป)
แต่ถ้าพยายามแล้วก็ยังไม่เข้าใจ อาจลองเปลี่ยนเป็นโหมด diffuse ดู เมื่อกลับมาอีกรอบจะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ถ้าเหนื่อยก็ต้องพัก (อย่าลืมว่าสมองเรารับข้อมูลใหม่ๆได้วันละไม่เยอะ)
Recall = เรียกข้อมูลมาใช้บ่อยๆ
ข้อมูลไหนถูกเรียกใช้บ่อย เราจะจำได้แม่น
เหมือนเราบอกให้พนักงานเดินไปหยิบบ่อย → พนักงานจะ (1) จำได้ว่าอยู่ตรงไหน (2) เดินไปหยิบได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ (3) หรือไม่ก็ย้ายข้อมูลมาไว้หน้าโกดังให้หยิบง่ายขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าพนักงานเก็บข้อมูลไว้แล้วไม่ได้ไปหยิบใช้เลย → ก็จะลืมว่าไว้ว่ามีข้อมูลนี้ → จนสุดท้ายแม่บ้านก็เอาไปทิ้งอยู่ดี
เทคนิคการ recall ที่ง่ายๆสุดคือ เมื่อเราได้รับข้อมูลใหม่ไป ให้หลับตาแล้วพยายามนึกว่าเมื่อกี๊เรารู้อะไรมาบ้าง → จากนั้นก็เช็คว่าเราถูกมั้ย → แล้วค่อยอ่านอันถัดไป… ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ ก็จะจำได้ดีขึ้น
ความ amazing คือ สมองจะจำได้แม่นขึ้นเรื่อยๆ ถ้า recall ตอนที่เรากำลังจะลืมข้อมูลนั้นๆ → เหมือนแม่บ้านกำลังจะหยิบไปทิ้ง พนักงานก็วิ่งไปบอกว่าอย่าทิ้งนะครับ! (บ่อยๆเข้าแม่บ้านก็จะไม่ทิ้งละ)
มีเทคนิคการ recall ที่เรียกว่า spaced-repetition คือดึงข้อมูลมาใช้แบบเป็นระยะๆแบบค่อยๆห่างขึ้นเรื่อยๆ (เช่น 1 อาทิตย์ → 2 → 4 → 8 …) ซึ่งจะทำให้จำได้ดีขึ้น → ส่วนใหญ่แล้วคนจะประยุกต์ใช้กับ flash card (ไว้ค่อยเขียนในบทความถัดๆไป)
เสริมว่าการเรียกข้อมูลมาใช้สามารถทำตอนไหนก็ได้ และยิ่งหลากหลายก็จะยิ่งดี
- ทำในหลายสถานการณ์ → ทบทวนด้วยตัวเอง / เล่าให้คนอื่นฟัง
- ทำในหลายสถานที่ → บ้าน คาเฟ่ ที่ทำงาน
Recall บ่อยๆ = พนักงานแม่นว่าข้อมูลไหนจำเป็น + แม่บ้านรู้ว่าอะไรที่ไม่ต้องทิ้ง! → ก้อนความรู้ค่อยๆเพิ่มจนเต็มโกดัง
โกดังแน่น = คนฉลาด (และจะฉลาดยิ่งๆขึ้นไปอีก)
เมื่อเราสร้างก้อนความรู้ (chunk) เก็บไว้ในหัวแล้ว → มันจะ (1) เชื่อมต่อกันเองได้ และยัง (2) เชื่อมต่อกับข้อมูลใหม่ในอนาคตได้อีก
คอนเซปท์นี้เรียกว่า “Transfer” (ก้อนความรู้มันถ่ายเทไปมาได้) ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนฉลาดถึง …
- สามารถแก้ปัญหาที่เจอได้ดี + สร้างไอเดียใหม่ๆออกมาได้
- สามารถเข้าใจอะไรใหม่ๆได้เร็ว และสามารถเรียนทักษะใหม่ๆได้ง่าย
สร้างนิสัยในการเรียนรู้กันเถอะ!
จะเห็นว่าความฉลาดนั้นค่อยๆถูกสร้างอย่าง “ต่อเนื่อง” ไม่ใช่ “ปุ๊บปั๊บ” จะฉลาดได้เลย → และพอเริ่มฉลาดแล้ว ก็จะฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้นถ้าเราอยากฉลาด เราอย่าไปฝืนเรียนอะไรยากๆหนักๆ แต่เพียงเริ่มจากอะไรเล็กๆโดยทำให้เป็นนิสัย
นิสัยที่สำคัญมี 2 อย่าง
- ฝึกเรียนรู้เป็นประจำ
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี
ฝึกเรียนรู้เป็นประจำ
การเรียนรู้ เป็นอะไรที่สร้าง loop ที่เสริมตัวเอง
- เรียนรู้ → มีความรู้
- มีความรู้ → นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน → รู้สึกสนุกและภูมิใจ
- มีความรู้ → เข้าใจข้อมูลใหม่ๆได้ง่ายขึ้น → รู้สึกสนุกและภูมิใจ
- รู้สึกสนุกและภูมิใจ → ยิ่งอยากเรียนรู้เพิ่ม
ความยากคือต้องบังคับตัวเอง (ในช่วงแรก) ให้เริ่มเรียนรู้เป็นประจำทุกวัน
ตอนเริ่มอาจจะเริ่มแค่ 10 นาทีก็ได้ (แต่ต้องทำให้ได้ประจำทุกวัน) → พอเริ่มทำประจำแล้วเครื่องจะเริ่มติด → จากนั้นจะเริ่มสนุกและอยากทำต่อจนเป็นนิสัยเอง
บำรุงสมองให้พร้อมเรียนรู้
มีอีก 2 ปัจจัย ที่ทำให้สมองของเราทำงานได้ดี
- ออกกำลังกาย
- พักผ่อน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้เราเก็บข้อมูลเข้าสู่ long term memory ได้ดีขึ้น → เหมือนเพิ่ม buff ให้พนักงานทำงานเก่งขึ้น
การพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยความเครียด ความล้าในสมอง → เหมือนมีเวลาให้แม่บ้านทำความสะอาดโกดังให้เอี่ยม พนักงานก็จะทำงานง่าย
สรุป: มาสร้างโกดังความรู้กันเถอะ!
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ปรบมือให้ตัวเอง กับ “ก้าวแรก” ของการสร้างโกดังความรู้ (คุณใช้สมองโหมด focus ได้ดีทีเดียวแหละ!)
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโกดังที่ดีนั้นเป็นยังไง → ขั้นต่อไปคือคิดว่าอะไรที่เราอยากเริ่มเรียน → แล้วก็เริ่มเรียนเลย
เน้นให้สร้างโกดังทุกวันอย่างต่อเนื่อง (อย่าอัดทีละเยอะๆ) → พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ → เราจะเริ่มสนุกกับการทำและหาสิ่งใหม่ที่เราอยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ → จนวันนึงโกดังเราจะเต็มไปด้วยความรู้โดยไม่รู้ตัว…
หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจในกลไกสมองในการเรียนรู้ → และทำให้คุณไปเรียนรู้ได้อย่างสนุก + มีประสิทธิภาพขึ้นนะครับ!
ป.ล.
- บทความนี้เขียนแบบ high level มากๆ (เน้นการเรียบเรียงเนื้อหาให้เข้าใจง่าย + ไม่ได้แปลมาตรงๆ)
- อนาคตอาจเขียนพวก action / technique / tool ที่จับต้องได้มากขึ้น เช่น Pomodoro, Interleaving, Spaced repetition
References
- คอร์สเต็มๆ Learning how to learn โดย Barbara Oakley และ Dr. Terrence Sejnowski เรียนฟรี ที่ Coursera