เมื่อ passion ที่มากไป ทำให้ใจเรา burnout

คนที่ทำตาม passion โดยไม่หยุดพัก อาจจะเป็น burnout ได้ → บทความนี้พูดถึงการดูแลตัวเองให้ดี จะได้ทำสิ่งที่เรามี passion ได้นานๆ

Marach T.

04 Feb 2023


💡 Key idea

การทำตาม passion แบบอินเกินไปโดยไม่หยุดพัก อาจจะทำให้เราเป็น burnout โดยไม่รู้ตัวได้ → เราต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ดี จะได้ทำสิ่งที่เรามี passion ได้นานๆ

🙂 เหมาะกับ

  • คนที่กำลังทำตาม passion อยู่กลางทาง และมีความสงสัยในตัวเอง หรือรู้สึกเจ็บปวด ว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า
  • คนที่กำลังทำตาม passion แล้วรู้สึกอินมากๆ → ควรอ่านเพราะเราอาจจะ burnout ได้ในอนาคต

🤒 ช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา

เป็นช่วงที่ผมรู้สึกไม่ปกติที่สุดตั้งแต่เกิดมา

จิตใจคือ เห็นอะไรก็หงุดหงิด รู้สึกไม่ดี รู้สึกขัดใจ ส่วนทางร่างกายคือ คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดหัว พะอืดพะอมตลอดเวลา

จนสุดท้ายแล้ว ไม่อยากคุยกะใคร ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากคิดอะไรในหัว

ซึ่งอยู่เฉยๆ อยู่เงียบๆ ให้เวลามันผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้นจนต้องไปหาหมอ

หลังจากไปหาหมอ + ได้คุยกับเพื่อนที่แสนใจดี ก็คิดว่าต้องใช่แน่ๆ

เรากำลัง Burnout อยู่

🫤 แต่เรา Burnout ได้ไงฟะ…

เราทำงานที่เรา enjoy มากๆอยู่นะ!

ปัจจุบัน ผมทำงานเป็นดีไซน์เนอร์ ซึ่งเป็นงานที่ผมรักและสนุกกับมันมากๆ ยิ่งไปก็ว่านั้น หัวหน้าก็แสนดี เพื่อนร่วมงานก็ดี๊ดี, culture บริษัทก็สุดแสนจะดี

อาจจะฟังดูประหลาด แต่ว่าผมใช้ “งาน” นี่แหละเป็น “แหล่งบันเทิงที่ท้าทาย” ที่ทำให้ผมอยู่ในสภาวะ flow จนลืมคิดถึงโลกแห่งความจริงในบางครั้ง

แต่คนที่ enjoy งานอย่างผม… กลับโดนร่างกายตัวเองต่อต้านจนทำงานไม่ได้

ทุกครั้งที่ลงมือทำ ร่างกายจะสุ่มอาการให้สักอย่าง เป็นต้นว่า คลื่นไส้ มึนหัว ปวดท้อง ปวดหัว หรืออาจจะเป็น combination ของ 2 อย่างขึ้นไป

หลังจากฝืนมาสักพัก ในที่สุดตัวเองก็ยอมรับว่า ถึงเราจะได้ทำงานที่เรารักมากๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ burn out

และแม้จะแปลกแต่จริง การที่ทำงานที่เรา passion มากๆ อาจเป็นตัวการที่ทำให้เรา burnout!

⚫️ ถ้า Burnout คือ หมดไฟ,

🔥 Passion burnout คือ ไฟแรงเกิน จนตัวเองมอดไหม้

จากทุกงานที่เคยทำมา งานนี้เป็นงานที่ผมอินที่สุด พยายามที่สุด

จากงานที่ “ทำเพื่อเงิน” กลายเป็นงานที่ “ทำเพื่อหล่อเลี้ยงไฟของตัวเอง”

ผลลัพธ์ของงานเลยไม่จบในงาน แต่ว่าติดอยู่ในใจ

ประมาณว่า passion ทำให้ ความเป็น professional ถูกแทนที่ด้วย personal

  1. Passion เยอะ → ความคาดหวังต่อตัวเองเยอะ
  2. Passion เยอะ → sensitive ต่อความเห็นต่องาน
  3. Passion เยอะ → เปิดก๊อกใช้พลังตลอดจน เครื่องร้อน และแบตหมด

Passion เยอะ → ความคาดหวังต่อตัวเองเยอะ

ผมเป็นคนที่หา input เกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบตลอดเวลา แบบว่า อ่านหนังสือ อ่าน blog ดู youtube ฯลฯ ได้เรื่อยๆแบบไม่เหน็ดเหนื่อย

ในขณะที่การมี input เยอะๆ จะทำให้เรามีความรู้เยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มาตรฐานในหัวของเราก็สูงตามไปด้วย

ครั้นเราจะ output อะไรซักอย่าง เสียงในหัวจะพูดว่า ยังมีงานอื่นๆอีกมากมายที่ดีกว่านี้ และยังมีอีกหลายทางที่จะพัฒนางานของเราขึ้นไปได้

ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นความท้าทายที่ทำให้เราเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเป็นบ่อยๆเข้า ความรู้สึกเครียดและกดดันก็เข้ามาแทนที่

พอทำงานเสร็จ ก็จะมองว่า งานมันยังไม่ดีเลย ดีได้กว่านี้นะ… จะลงมือแก้แล้วแก้อีก ก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่ได้ดั่งใจอยู่ดี

พอถึงจุดนึง ไม่ว่าผมจะพยายาม go above and beyond ขนาดไหน ก็หาความพอใจกับงานที่ตัวเองทำไม่เจอ เหลือแต่ความคาดหวังต่อตัวเองที่มันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

Passion เยอะ → sensitive ต่อความเห็นต่องานเยอะ

ปกติแล้วผมจะเป็นคนเงียบๆ ค่อยๆคิด อะไรก็ได้ ไม่ค่อยสนใจโลก ไม่ค่อยสนใจคน

ข้อดีคือ ทำให้ผมทำงานได้อย่างมีตรรกะ คิดวิเคราะห์ได้แบบใจเย็น รับฟัง feedback อย่างตั้งใจ

แต่พอได้ทำงานที่ตัวเองมี passion ไปสักพัก ผมกลับเป็นคนที่ sensitive อย่างรุนแรง

อยากให้คนอื่นชอบงานเรา รู้สึก protective เวลาคนมาให้ความเห็นกับงานเรา

คนชมก็สุดดีใจ คนไม่ชอบก็รู้สึก down แบบว่า mood มัน swing ขึ้นลงตลอดเวลา

จากการที่ทำงานด้วยความชอบในตัวงานและมีความสุขกับการเก่งขึ้นไปเรื่อยๆทีละนิด กลายเป็นพยายามเฆี่ยนตีให้ตัวเก่งขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่างานเราดี (ทั้งๆที่คนอื่นก็ไม่ได้สนใจอะไรเราเท่าไรเลย!)

Passion เยอะ → เปิดก๊อกใช้พลังตลอดจน เครื่องร้อน และแบตหมด

ผมเป็นมนุษย์ที่สนุกกับการ productive คนนึง วันๆก็จะอ่านหนังสือ ทำงาน ฝึก เรียน ฯลฯ วนไป

ตั้งแต่เด็กจนโตก็ทำมาตลอดได้แบบไม่รู้สึกเครียด ไม่เดือดไม่ร้อน

จนกระทั่งช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ที่มีผลกระทบกับร่างกายแบบรุนแรง คือ ปวดท้อง ปวดหัว จนทำสิ่งที่เราทำประจำได้อย่างไม่มีความสุข

จากเดิมที่กิจกรรม productive ใดๆทำให้เราอยู่ใน flow ที่เพลินจนลืมเวลา → กลายเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิด pain ทั้ง physical และ emotional แบบไม่เป็นเวลา

ไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นความเครียดสะสม และอาจจะพ่วงกับการทำงานเยอะเกินไปจน burn out

ตอนแรกก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย (เพราะตัวเองก็ทำแบบนี้มาตลอดชีวิต และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเครียด)

แต่พอมาคิดๆดู มันก็คงสะสมแหละ

  • passion ก็ยิ่งทำให้เรา sensitive → ยิ่งกระทบต่อเราในเรื่องอารมณ์และความเครียด
  • แก่ขึ้นแหละ → ร่างกายก็เลยส่งเสียงร้อง 🧓

❤️🩹 แต่ถึงเจ็บมาขนาดนี้ ✊ ก็ยังจะทำตาม passion อยู่ดี!

ถ้าใครอยู่ในวงการ self development จะเคยได้ยินคำแนะนำอยู่หลายแบบ เช่น

  • ทำตาม Passion แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง (Steve Jobs, Gary Vaynerchuck)
  • ทำตามสิ่งที่เราชอบ + สิ่งที่เราเก่ง + สิ่งที่เราต้องการ + สิ่งที่สังคมต้องการจากเรา … (Ikigai, Start up of You)
  • ทำสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง (Carl Newport)

ซึ่งเอาเข้าจริงในชีวิตเรา ก็อาจจะกระโดดไปมาระหว่างคำแนะนำต่างๆ (ตามบริบทของตัวเอง เช่น ช่วงวัย ครอบครัว ความสามารถ ฯลฯ)

สำหรับผมเอง (แม้จะพึ่งผ่านแผลสดจากการตาม passion จนเจ็บตัว) ก็ยังคิดว่าการทำตาม passion เป็นสิ่งที่ผมโหยหาอยู่ดี (และยังเชียร์ให้ทุกคนทำกันอยู่ดี)

แต่ key สำคัญคือ เราต้องเข้าใจในความสัมพันธ์ของ passion ต่อตัวเรามากขึ้น

🔥 Passion ไม่ควรเป็นไฟ 🎛 แต่ควรเป็นเตาแก๊ส ที่เราปรับระดับไฟด้วยตัวเองมากกว่า

เหมือนทุกๆอย่าง → too much good thing can be bad

  • ไม่ออกกำลังกาย → อ่อนแอไม่แข็งแรง
  • ออกกำลังกาย → แข็งแรง
  • ออกกำลังกายมากไป → บาดเจ็บ

จินตนาการว่า passion ก็เหมือนความแรงของไฟในการทำอาหาร เราต้องรู้จักควบคุมไม่ให้มันมากไป/น้อยไป

ซึ่งคำว่ามากไป / น้อยไป ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เปิด passion เต็ม →ในสถานการณ์ที่เหมาะ เพื่อสร้างผลงานที่ดี

จินตนาการ chef ร้านอาหารจีนโยกกระทะผัดข้าวด้วยไฟแรง จนออกมาเป็นข้าวผัดเคลือบไข่ที่หอมกลิ่นกระทะ!

  • ไฟแรง = passion
  • โยกกระทะ = skill
  • ข้าวผัดเคลือบไข่ที่หอมกลิ่นกระทะ = result แบบสุดยอด

แน่นอนว่า chef จะรู้สึกมันส์มากๆในการทำ (เข้าข้อจัดๆ) คนรอบข้างมองก็เห็นว่า chef ทำอย่างคล่องแคล่ว

ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ จะต้องมี ไฟที่แรงพอ ทักษะที่ถึง และ อาหารที่เขาเลือกทำ → ถ้าสามสิ่งเหล่านี้ไม่สัมพันธ์กัน ผลงานก็จะออกมาไม่ดี

ในการทำงานของเรา เราควรเลือกใช้ passion แบบจัดเต็มเมื่อ

  • งานที่เราทำนั้น เป็นงานที่เราอยากทำ ควบคุมได้ มีเวลาในการทำที่เหมาะสม
  • งานที่เราทำนั้น เป็นงานที่เรามีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอ พร้อมนำไปทดลองเพื่อต่อยอด

ลด passion → เพื่อเรียนรู้และขัดเกลาสกิล

ถ้าฝีมือยังไม่ถึง การใช้ไฟที่แรง อาจจะทำให้อาจจะทำให้ข้าวผัดไหม้ ถึงกับกินไม่ได้ (หรืออาจจะทำให้เราบาดเจ็บ)

ดังนั้นอาจจะเริ่มจากไฟอ่อนๆก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจไฟ และการเขย่ากระทะ จากนั้นเพิ่มความแรงของไฟขึ้นเรื่อยๆ

อาจไม่ได้ทำให้ข้าวผัดเวอร์ชันสุดยอดแต่ก็กินได้ ดีกว่าข้าวผัดไหม้จนกินไม่ได้ หรือว่าเราบาดเจ็บจากไฟ!

แต่ถ้าเมนูที่เราทำไม่ใช่ข้าวผัด เราอาจจะไม่ต้องใช้ไฟกะเตาแก๊สเลย → ไปใช้เครื่องอบทำแบบ slow cook ให้จบๆไปก็ได้

ในการทำงานของเรา เราควรลด passion เมื่อ

  • เรายังไม่มีสกิลที่เพียงพอ → เราควรเน้นไปที่การเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ค่อยๆ pick up skill → ไม่กดดันว่าผลงานต้องดีเลิศ
  • เราทำงานที่ไม่ได้สำคัญ หรือเราไม่ได้อยากจะทำในระยะยาว → บางทีทำให้ได้พอใช้ก็เพียงพอที่จะไปต่อแล้ว ไม่ต้องกดดันว่าจะทำให้ดีที่สุด

ปิด passion → เพื่อฟื้นพลังไว้เปิด passion รอบถัดไป

การออกแรงผัดข้าวอยู่หน้าเตาร้อนๆ เป็นการใช้พลังงานที่สูงมาก เพราะใช้ทั้งสมาธิ ความอดทน แรงกาย แรงใจ ฯลฯ

ถ้าเราทำติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุด ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง

ที่ร้ายแรงกว่านั้น ถ้ายิ่งฝืนทำนานๆ อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ (ทางกายหรือใจ) จนทำงานได้ไม่เหมือนเดิม

แต่ถ้าเรารู้จักหยุดพัก ในระหว่างที่ร่างกายพักผ่อน → สมองก็จะสร้างรอยหยักใหม่ๆ กล้ามเนื้อก็จะถูกสร้าง พลังงานก็จะถูกเติมกลับมาจนเต็ม

เมื่อกลับมาทำงานหลังจากพักผ่อน เราก็จะกลายเป็น chef ที่สะบัดกระทะได้แรงกว่าเดิม พร้อมจะทำข้าวผัดอร่อยๆออกไปให้คนกิน

ไม่ว่าเราจะ passionate กับสิ่งที่เราทำขนาดไหน

  • ทักษะและประสบการณ์ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง
  • มุมมองและ feedback จากคนอื่นก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
  • การพักผ่อนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดี
  • การบังคับให้ตัวเองผ่อนคลายและ recharge จะทำให้เรากลับมาทำงานได้อย่างสนุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าเรา passionate จริงๆ เราจะอยากทำมันไปตลอดชีวิต → การรู้จักหยุดพักผ่อน คือวิธีที่จะสามารถทำให้เราทำงานที่เรา passionate ได้แบบยั่งยืน

อย่า needy กับ passion ของคุณมากเกินไป

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะเป็นคนคล้ายๆกัน

  • ❤️ เราทำในสิ่งที่เรารัก
  • 😆 เรามีวันที่สนุกสุดขีดกับมัน
  • 😭 เรามีวันที่เจ็บปวดและสับสนกับมัน
  • 🧐 เราสงสัยว่าเรามาถูกทางมั้ย ทำไมเราถึงเป็นแบบนี้

ผมเดินหน้าทำตาม passion เต็มที่เพราะผมชอบและสนุก แต่ลึกๆที่เราไม่ได้คิดแต่รู้สึกก็คือ เราเชื่อว่าชีวิตเราจะเติมเต็มและอิ่มเอม

จะว่าไป ก็เป็นความสัมพันธ์แบบ needy & clingy โดยไม่รู้ตัว → คือเราแบบเต็มที่มากๆ ใช้ชีวิตกับ passion มากๆ และเราก็คาดหวังมากๆว่าจะได้สิ่งที่เราต้องการกลับมา

เมื่อไม่ได้สิ่งที่เราต้องการกลับมา เราก็รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกฝืน และอาจจะมีแว้บหนึ่งที่รู้สึกอยากจะหนีห่างจาก passion ของเราไป

ไม่ใช่ว่าการทำตาม passion ไม่ดี แต่เราอาจยังไม่เข้าใจ passion ดีพอ

ทุกวันนี้ผมรู้จักที่จะดูแล passion ของตัวเองให้ดีขึ้น → จากที่ needy ก็ laidback และ caring มากขึ้น

ถ้าคนมองจากภายนอก อาจจะดูไม่ passionate เหมือนเก่า แต่ภายในคือ passionate เหมือนเดิมแหละ แค่มันไม่ล้นออกมาจนทำร้ายตัวเอง (และคนอื่น)

ผมก็ยังรู้สึกดีทุกครั้งที่ไฟติด แต่ก็ต้องห้ามตัวเองไม่ให้มากเกินไป

คุณเองก็เช่นกันนะ อย่าหักโหม อย่าลืมเทคแคร์ตัวเอง เราจะได้ทำตาม passion กันไปอีกนานๆ

สรุป

  • การทำตาม passion อาจเป็นตัวเร่งให้เราเกิด burnout ได้
  • passion เยอะ อาจทำให้มีความคาดหวังต่อตัวเองเยอะ และกดดันตัวเอง
  • passion เยอะ อาจทำให้ sensitive ต่องานและความเห็นของคนอื่นเยอะขึ้น
  • passion เยอะ อาจทำให้เราทำงานเยอะ จนไม่ได้หยุดพักผ่อนเพื่อชาร์จพลัง
  • ถ้าอยากทำสิ่งที่เรารักได้ให้ยั่งยืน ไม่ต้องเต็มสูบตลอดเวลา แต่ปรับ passion ให้มากน้อยตามสถานการณ์
  • เราเปิด passion เต็มที่ เมื่อเราทำสิ่งที่เราชอบ มีทักษะที่เพียงพอ และมีอิสระในการทำงาน
  • เราลด passion เมื่อเรากำลังเรียนรู้ ,งานไม่ได้สำคัญมาก หรือมีอะไรหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้
  • เราปิด passion เพื่อให้มีเวลาในการพักฟื้น

ทิ้งท้าย

ถ้าเป็นคนทำตาม passion → อยากให้ลองอ่านบทความ สรุปหนังสือ Start up of You ดู (เป็น Framework ที่จะทำให้เราทำตาม passion ได้ง่ายขึ้น!)

Latest Posts

วิธีใช้ subgrid เพื่อให้เนื้อหา card เรียงกันแบบสวยๆ

สอนวิธีการใช้ subgrid เพื่อสร้าง card ที่มี layout ที่สวยงามและ flexible ได้ตามเนื้อหาที่ใส่เข้ามา

01 Jun 2024 • Marach T.

คู่มือเข้าใจ Burnout: เป็นที่เรา หรือเป็นที่งาน

เบิร์นเอาท์ (burnout) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายแต่รักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะมักเกิดจากปัจจัยทั้งภายใน (ตัวเราเอง) และภายนอก (งาน)

17 Feb 2024 • Marach T.

Design principle คืออะไร และช่วยทีมโปรดักอย่างไร

Design principle คือ หลักการที่ใช้ตัดสินใจในการออกแบบ product – ช่วยให้ทีมตัดสินใจได้เหมาะสมและรวดเร็ว

11 Jun 2023 • Marach T.

ดู Posts ทั้งหมด