ในการทำงาน ผมในฐานะดีไซน์เนอร์มักจะมีปัญหากับคนคุมโปรเจคอยู่เสมอๆ ยกตัวอย่างเช่น
- ผมเสนอว่าให้ตัดฟีเจอร์ออกเพราะลูกค้าไม่ใช้ คนคุมบอกต้องทำเพราะเป็น requirement
- ผมเสนอว่าออกแบบในลักษณะอื่นจะดีกว่า คนคุมบอกไม่ให้ทำเพราะตกลงไว้กับ management แล้ว
- ผมเสนอว่าถ้าเลื่อนเวลาส่งมอบอีกนิด จะได้แอปที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น แต่คนคุมบอกไม่ให้เลื่อนเพราะต้องทำตาม timeline ที่วางไว้
ผมมักรู้สึกหงุดหงิดในเหตุการณ์ข้างต้น เพราะการทำงานในลักษณะนี้เป็นการเน้นทำงานให้เสร็จ (ส่งมอบทันเวลาและตามเงื่อนไข) มากกว่า ทำงานให้สำเร็จ (มีผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า) และข้องใจว่าทำไมเขาถึงมองต่างจากเรา
…
แต่พอผมได้มีโอกาสคุยกับคนคุม ก็ปรากฏว่าเขาเข้าใจและรู้สึกเหมือนกับเราว่า solution สามารถดีขึ้นได้ แต่ว่าเขาไม่อยากเปลี่ยนอะไร เพราะว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของเขา หน้าที่เขาคือ ทำงานให้เสร็จทันเวลา
ผมอึ้ง 😧
ใจหนึ่งก็ดีใจที่เขาเห็นเหมือนเรา (ว่าสามารถพัฒนาแอปให้ดีขึ้นได้) แต่อีกใจหนึ่งก็เสียดายแทนองค์กรที่ทั้งที่คนทำงานมีไอเดีย แต่กลับไม่ได้นำไปใช้เพราะโครงสร้าง/วิธีการทำงานปัจจุบันไม่เอื้อ
…
ผมจะเรียกวิธีการทำงานนี้ว่า การทำงานแบบ project team ที่เน้นให้ทำงานให้เสร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร
อย่างไรก็ตาม หลายๆองค์กรเริ่มปรับตัวโดยใช้การทำงานแบบ product team ซึ่งเน้นให้ทำงานสำเร็จ แทนที่จะแค่งานเสร็จ
เรามาดูข้อแตกต่างของทั้งสองวิธีการทำงานกัน
วิธีการทำงานแบบ Project
- Management มี outcome ที่ตัวเองอยากได้ (เช่น ยอดขายในแอปใหม่ X ล้านบาท) จึงเขียน business case เพื่อขอ funding มาทำโปรเจค โดยมีข้อมูลของ สเปคของ solution (requirements ต่างๆ) และ แผนการทำงาน (milestones ที่สำคัญต่างๆ เช่น วัน go-live) โดย funding จะ define solution (เช่น สร้างแอปที่สามารถทำ XX ได้โดยใช้จำนวน 5 คน ส่งมอบในวันที่ XX)
- เมื่ออนุมัติ Funding เรียบร้อย งานจะเริ่มโดยมี Project Manager คอยคุมให้เป็นไปตามแผนโดยเริ่มที่ทีม design ให้ออกแบบหน้าจอ
- จากนั้นจะถูกส่งไปยังทีม dev เพื่อสร้าง
- เมื่องานเสร็จก็ส่งมอบให้ทีมซัพพอร์ทดูต่อ เป็นอันว่าจบหน้าที่
จุดประสงค์ของ project คือ ส่งมอบได้ตามเวลา อยู่ใน budget ที่กำหนด ส่วนผลลัพธ์ว่าสิ่งที่ส่งมอบตอบโจทย์ business outcome หรือไม่ จะเป็นความรับผิดชอบ ของ management ที่ต้องติดตามผลเพื่อมาทำโปรเจคถัดไป
วิธีการทำงานแบบ Product
- Management มี outcome ที่ตัวเองอยากได้ จึงเขียน business case เพื่อขอ funding มาทำโปรเจค โดยข้อมูลสำคัญคือตัว outcome ส่วนใหญ่ funding จะเป็นแบบ rolling-basis (เช่น fund ทีมจำนวน 5 คนเป็นระยะเวลา 1 ปี)
- เมื่ออนุมัติ funding เรียบร้อย งานจะเริ่มโดยการตั้ง product team (product manager + designer + dev) โดยทีมจะตกลงสเปคของและแผนการทำงานร่วมกัน และเริ่มออกแบบ + สร้าง
- เมื่อทำงานเสร็จก็จะปล่อยลูกค้าใช้งาน โดยทีมจะทำการติดตามผลว่าได้ outcome ที่ต้องการหรือไม่ เพื่อวางแผนการออกแบบ + สร้างให้ได้ outcome ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
จุดประสงค์ของ product team คือ การไปถึง outcome ที่อยากได้ด้วยการรับผิดชอบร่วมกัน โดยเมื่อครบระยะเวลา funding ฝั่ง management ก็จะมาคิดว่าได้ outcome ที่ต้องการหรือไม่ ควรจะ fund ต่อไหม ควรจะเพิ่ม/ลด fund เท่าไร ฯลฯ
ดีไซน์เนอร์หลายๆคนอาจจะชอบทำงานแบบโปรเจค โดยเฉพาะสาย specialist
การทำงานเป็น project ทำให้เรามี scope และ timeline ที่ชัดเจน หน้าที่ของเราคือการทำงานให้เสร็จตามเวลา สำหรับคนที่อยากจะ focus แค่งานของตัวเองแล้วและไม่อยากโดนรบกวนจากสิ่งอื่นๆ การทำงานในลักษณะนี้ค่อนข้างตอบโจทย์
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ดีไซน์เนอร์โดนจำกัดให้ทำในสิ่งที่ได้รับมาแล้วให้เสร็จตามเวลา บางครั้งหมายถึงการทำในสิ่งที่ไม่ได้สร้าง impact ที่แท้จริงทั้งที่รู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่า เพราะว่า solution ได้ถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้นโปรเจค
ผมเชื่อว่าการทำงานแบบ product คือวิธีที่ จะทำให้ดีไซน์เนอร์มี impact มากขึ้น
การทำงานแบบ product ทำให้เราสามารถหาและส่งมอบ solution ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าและ business ได้ ในขณะเดียวกัน ดีไซน์เนอร์ (และทั้งทีม) ก็จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น คิดและทำความเข้าใจและสื่อสารกันมากขึ้น ถึงจะส่งมอบสิ่งที่ดีออกไปได้
ดีไซน์เนอร์มีทักษะหลายๆอย่างที่เป็นประโยชน์กับทีม เช่น
- การทำความเข้าใจลูกค้า
- การจัด workshop เพื่อหา alignment หรือ ideation
- การทำ prototype เพื่อหาข้อมูลมาประกอบตัดสินใจ
เมื่อโครงสร้างองค์กรเอื้อแก่การให้ดีไซน์เนอร์นำทักษะเหล่านั้นมาใช้ องค์กรก็จะมีโอกาสที่จะได้ solution ที่พาไปถึง outcome ที่ต้องการมากขึ้น!
โปรเจคไม่ได้แย่เสมอไป แต่โปรดักคือวิธีการทำงานในอนาคต
วิธีการที่เหมาะสมในการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของบริษัท บางบริษัทที่ต้องการสร้างของชัดเจนและคุมค่าใช้จ่าย อาจจะทำชอบการทำงานแบบโปรเจคเพราะสามารถควบคุมได้ง่ายกว่า ได้ของที่ต้องการ และให้ management เป็นคนรับผิดชอบในเรื่อง outcome ไป
แต่ตัวผมคิดว่าการทำงานแบบโปรดักคือวิธีการทำงานในอนาคต เพราะเมื่อองค์กรมีโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการรับผิดชอบใน outcome ร่วมกัน (ตั้งแต่การวางแผน การคิด การสร้าง จนถึงการวัดผล) บริษัทจะได้ solution ที่ lean / เร็วขึ้น (ไม่เสียทรัพยาการในการตั้งและคิดใหม่เรื่อยๆ) และนอกกรอบมากขึ้น (ไม่ได้จำกัดความคิดอยู่ที่ management เท่านั้น) ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรยั่งยืนและสามารถต่อสู้กับองค์กรอื่นๆได้ในระยะยาว
…
ตัวผมเป็นดีไซน์เนอร์ที่ชอบมี impact ก็เลยชอบทำงานแบบ product team
แล้วคุณล่ะชอบทำงานแบบ project team หรือ product team
…
บทความนี้ผมเล่าเรื่องแบบ high-level จากประสบการณ์ที่เคยเจอมา + การตีความในมุมของดีไซน์เนอร์ครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลแบบละเอียดสามารถอ่านจากบทความ Products over Projects (2018) โดย Sriram Narayan ได้ครับ