สรุปหนังสือ Start-up of you – ทำงานที่รักให้ประสบความสำเร็จแบบ Start-up

หนังสือ Start-up of you เป็นหนังสือเกี่ยวกับการใช้ mindset แบบ startup ในการทำงาน โดยมองว่าชีวิตของเราเป็นเหมือนบริษัท Start-up ที่จะต้องคอยปรับตัวเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการงานได้

Marach T.

03 Jun 2022


ผมสรุปหนังสือเล่มนี้เพราะอยากให้ “ทุกคนได้ทำงานที่ตัวเองรักอย่างประสบความสำเร็จ”

อยากทำสิ่งที่รัก -> อ่าน start-up of you แล้วทำตาม -> ไปถึงฝันแบบประสบความสำเร็จ

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Start-up of you ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการใช้ mindset แบบ startup ในการทำงาน โดยมองว่าชีวิตของเราเป็นเหมือนบริษัท Start-up ที่จะต้องคอยปรับตัวเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการงานได้

โดยส่วนตัวมองว่าเป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกคนที่ยังต้องทำงาน โดยเฉพาะกับคนที่มีสิ่งที่รักและอยากทำ แต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น

  • คนอยากขึ้นตำแหน่งสูงขึ้น แต่ยังทำไม่ได้
  • คนที่อยากเปลี่ยนสายงาน แต่ยังลังเล
  • เด็กที่พึ่งจบใหม่ แต่ยังหางานไม่ได้

ผมเคยเป็นคนๆนั้นที่ลังเลที่จะเริ่มทำสิ่งที่ตัวเองรัก (เปลี่ยนอาชีพมาเป็นดีไซน์เนอร์) แต่พอทำได้แล้วก็มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ผมก็เลยตัดสินใจสรุปกึ่งเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ (มีการใช้ภาษาหรือความเข้าใจของตัวเองบ้าง) ให้เหมาะกับบริบทของคนที่อยากทำตามหาหัวใจตัวเอง ผมหวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะครับ

หมายเหตุ ผมอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมา ชื่อว่า Start-up of You : Adapt, Take Risks, Grow Your Network, and Transform Your Life (1/06/2022 เข้าใจว่ายังไม่มีภาษาไทย ถ้าใครรู้ช่วยบอกผมด้วยนะครับ)

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลย!

ถ้าจะทำสิ่งที่ตัวเองรัก ต้องยอมรับในการเป็น permanet beta

Beta 1 ธรรมดา -> Beta 2 ใส่แว่น -> Beta 3 ใส่แว่นและทำผมตั้ง -> Beta 4 ...

Permanent = ตลอดไป Beta = เวอร์ชั่นของซอฟท์แวร์ที่ถูกปล่อยออกเพื่อการทดสอบ (และนำผลลัพธ์ไปพัฒนา) ก่อนที่จะ release จริง

Permanent beta คือ การมองว่า

  • เราเป็นซอฟท์แวร์ตัวหนึ่งที่สามารถอัพเกรดได้เรื่อยๆ
  • อะไรต่างๆที่เราทำ ถือเป็นการทดลองกับโลกภายนอก เพื่อให้ได้ feedback
  • ทุกครั้งที่มี feedback เราก็กลับมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
  • พัฒนาตัวเองเสร็จ ก็ออกไปทดลองอีก (วนไป)

จะว่าไป มันก็คือ growth mindeset + continous improvement น่ะแหละ (แค่คำมันเฉพาะกว่าสำหรับ start-up)

อย่างที่รู้กันว่า การทำสิ่งที่ตัวเองรัก (ให้ประสบความสำเร็จ) ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (ถ้ามันง่าย คงไม่มีใครมาบ่นว่าเบื่องานตัวเองกันหรอก!)

จะประสบความเร็จได้ ต้องหาตรงกลางของ หัวใจ–แต้มต่อ–ตลาด ให้เจอ

มีสิ่งที่ตัวเอง อยากทำ -> หมุนหาแต้มต่อ และตลาด -> พบงานที่ลงตัว

ต้องบอกไว้ก่อนว่า ถึงแม้ผมจะยุให้ทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองรัก แต่มันไม่ได้ (1) ง่าย (2) การันตีว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ

คนที่ประสบความสำเร็จได้ คือ คนที่หาทางคลิกกันของ 3 ปัจจัยเจอ ได้แก่

  • ❤️ หัวใจ – สิ่งที่เราอยากทำ อยากเป็น สิ่งที่มีคุณค่ากับเรา
  • ✊ แต้มต่อ – สิ่งที่เรามีเพื่อทำในสิ่งที่ใจเราต้องการ เช่น ความรู้ ทักษะ เงิน connections ผลงาน ฯลฯ
  • 💰 ตลาด – ความสนใจของคนอื่นต่อสิ่งที่เราอยากทำ คือ จะมีคนจ่ายเงินให้เรามั้ย

คนที่ได้ทำในสิ่งลงตัวทั้ง 3 ปัจจัย จะทำงานได้แบบติดลมบน (มีความสุขทุกวัน → เก่งขึ้นเรื่อยๆ → มีเงินเข้ามา → …. วนไป)

ตัวอย่าง: มีหัวใจ ❤️ → สร้างแต้มต่อ ✊ + หาตลาด 💰

ปี 2020 ผมทำงานอยู่ในบริษัท consult เป็น Business analyst แต่ผมรู้ตัวว่าผมชอบดีไซน์และการเขียนโค้ดมาก(❤️) จึงพยาพยามพัฒนาทักษะและหาโปรเจคเสริมทำ (✊) + ลองหาวิถีทางต่างๆ ให้เราได้ทำสิ่งที่เราชอบ (💰) เช่น คุยกับ staffing team เพื่อเปลี่ยนโปรเจค, ขอลดเงินเดือนเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง, ลองทักคนรู้จักเพื่อหางาน, สมัครงานที่อื่นๆ … หลังจากทำอยู่ประมาณปีครึ่งก็ได้งานใหม่ในที่สุด

ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยแต่สนุก (ผมเลือกที่จะทำงานเดิมไปด้วย) แต่ก็รอดมาได้แม้จะมีบางครั้งที่ท้อ เพราะเรามองออกว่าสิ่งที่รอเราอยู่ไกลๆ มันคุ้มค่า

เตรียมแผนที่ครอบคลุมไว้กับตัวอยู่เสมอ เพื่อรอรับการเปลี่ยนแปลง

โลกที่เปลี่ยนแปลง อยู่ตลอด + แผนที่วางไว้ อย่างครอบคลุม = คว้าโอกาสที่ดี และ จัดการการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดี

เราและโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (ความชอบเปลี่ยน มีแนวคิดใหม่ๆ การเมืองเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน) ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคืออาจจะเกิดโอกาสใหม่ๆที่ไม่มีมาก่อน ข้อเสียคือมันอาจจะทำลายสิ่งเดิมๆที่เราเคยทำมา

ดังนั้นเราต้องวางแผนให้ครอบคลุม วิธีที่หนังสือแนะนำคือการวางแผนแบบ ABC

  • Plan A – สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน
  • Plan B – สิ่งที่เราอยากจะทำ เมื่อสิ่งที่เราทำอยู่ปัจจุบันมันไม่เวิร์ค (หรือโอกาสใหม่ๆที่ดีกว่า)
  • Plan Z: fall back - ถ้าทุกอย่างพังทลาย เราสามารถมาทำสิ่งนี้ได้
  • โดยเราสามารถมีหลายๆ Plan A, B หรือ Z ได้ ตราบเท่าที่เราวางแผนให้มันสอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากทำ

การมีแผนทำให้เราเดินหน้าได้อย่างอุ่นใจ เมื่อเห็นโอกาสที่ดีเข้ามาเราก็เจอพร้อมไป หรือเมื่อมีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาก็จะไม่กระทบเรามาก

ตัวอย่าง: มีแผนในใจเสมอ

ปี 2013 ผมไปเรียนที่ต่างประเทศ โดยผมทำงานร้านอาหารไปด้วยเยอะมาก (Plan A) เพื่อเป็นลดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันก็พยาพยามเปลี่ยนงานเป็นพนักงานที่มหาวิทยาลัย (Plan B) เพื่อเพิ่มทักษะการพูดภาษาอังกฤษและมีเวลามากขึ้น โดยในใจรู้ว่าถ้าทุกอย่างไม่รอดจริงๆก็จะขอเงินพ่อแม่ 🥲 หรือกลับไทยมาทำงาน (Plan Z)

การวางแผนแบบนี้ทำให้ผมรู้สึก secure ในการใช้ชีวิตขึ้นมาก

คุยกับคนอื่น (เรื่องงานของเรา) บ้าง เพื่อสร้าง professional network (เครือข่ายการทำงาน)

 พูดเกี่ยวกับงานของเรา เพื่อสร้างเครือข่าย -> สร้างเครือข่าย คนทำงานแนวเดียวกัน, สร้างเครือข่าย คนทำงานต่างจากเรา, สร้างเครือข่าย ผู้ติดตาม

เราอยู่ในโลกที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และการมีปฏิสัมพันธ์กันก็จะนำมาซึ่งหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • โอกาสในการได้งาน: เช่น job opening ต่างๆ หรือ ลูกค้าที่อยากจะจ้างเรา
  • โอกาสในการพัฒนาตัวเอง: เช่น การคุยกับคนที่อยู่ใน position ที่เราอยากเป็น จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการจากเขา

เราควรจะคุยกับคนรอบข้างเกี่ยวกับงานและความสนใจของเราบ้าง เพื่อสร้าง professional network (เครือข่ายการทำงาน) ที่จะช่วยสนับสนุนกันและกัน

โดยมักจะมีคนในเครือข่าย 3 ประเภท

  • คนทำงานแนวเดียวกับเรา คือ เพื่อนที่เราเชื่อในตัวเขา (ในด้านของ ทักษะ มุมมอง การตัดสินใจ) ที่คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจกันและกัน และพัฒนาไปด้วยกัน
  • คนที่ทำงานต่างจากเรา คือ เพื่อน (อาจจะห่างๆ) ที่มักมีทักษะที่ต่าง หรือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต่างจากเรา ที่จะมาช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับเรา (ทั้งมุมมองและโอกาสใหม่ๆ)
  • ผู้ติดตาม คือ เพื่อน (และคนอื่นๆ) ที่ตามเราบน social media หรือช่องทางต่างๆ โดยที่เขาชอบผลงานหรือแนวคิดของเรา ที่เราสามารถจัดกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนกันได้

การที่เราคุยกับคนอื่นและสร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมา จะทำให้เรามีทั้งแรงสนับสนุนและมุมมองใหม่ๆ

อย่าลืมว่าเครือข่ายก็คือความสัมพันธ์นั่นแหละ ดังนั้นเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ (เหมือนกับความสัมพันธ์ในทุกๆรูปแบบน่ะแหละ!) ที่สำคัญคือ เป็นทั้งผู้ให้ (อยู่เสมอ) และผู้รับ (เมื่อจำเป็น)

ตัวอย่าง: ปรึกษาคนอื่นจนเราได้ดี

ในปี 2019 ในขณะที่ผมเป็น business analyst ที่อยากเปลี่ยนงานเป็น designer นั้น ผมได้มีโอกาสลงโปรเจคกับพี่คนนึงที่เป็น Seinor designer ที่สำคัญคือ เขาเปลี่ยนงานจาก Product owner มาเป็น UX ด้วย!

จากวันนั้นที่เจอ เขาเป็นหนึ่งคนที่ผมขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนงาน และแม้ตอนนี้จะได้เป็น designer สมใจแล้ว ผมก็ยังขอคำแนะนำจากเขาบ่อยๆเกี่ยวกับการทำงานในตำแหน่งที่เริ่มสูงขึ้น

ป.ล. ตอนนี้เค้าเป็นระดับ Head ไปแล้ว

ปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างความ โชคดี ให้ตัวเอง

ลองทำอะไรที่ สร้างโอกาสให้เรา -> เกิดโอกาสใหม่ๆ เข้ามา -> เลือกโอกาสที่เหมาะกับเรา และดีใจกับ “ความโชคดี”

หลายๆคนน่าจะมีประสบการณ์ที่อยู่ๆตัวเองก็ “โชคดี”

  • อยู่ๆก็มีคน offer งานให้
  • อยู่ๆก็ได้เพื่อนตอนไปงาน conference
  • อยู่ๆก็ได้เจอกับเพื่อใหม่ในที่ทำงาน ที่กลายมาเป็นคนคอยให้คำปรึกษาจนเปลี่ยนชีวิตเรา

ที่จริงแล้วพื้นฐานของความโชคดีนั้น เกิดจาก “พฤติกรรม” ของเรา ที่คอยสร้าง “โอกาส” ให้ตัวเอง

  • คอยสงสัยและสังเกตสิ่งรอบข้าง
  • ลองทำอะไรแบบ random (ทำวิธีใหม่ๆ คุยกับคนใหม่ๆ ลองอะไรแปลกๆ ฯลฯ)
  • ลองร่วมกลุ่ม หรือ สมาคมต่างๆ ให้เจอคนเยอะขึ้น

พฤติกรรมที่เหมาะสม → โอกาสที่เข้ามากมากขึ้น → รู้สึกว่าโชคดีเพราะเจอโอกาสที่ใช่กับตัวเอง

ตัวอย่าง: ได้งานเพราะนั่งกินข้าวแกง

ปี 2019 ผมได้รู้จักพี่คนหนึ่งผ่านการทำงาน ผมเป็น consult บริษัท A ส่วนพี่เขาเป็น consult บริษัท B

บังเอิญเราเข้าไปกินข้าวแกงร้านเดียวกันตอนพักเที่ยง ผมคุยกับเขาว่าผมอยากทำดีไซน์นะ (แม้ตอนนั้นจะเป็น business analyst อยู่) ปรากฏว่าเขากำลังจะไปเป็นสอนมหาวิทยาลัยในวิชา interactive design พอดี ผมจึงขอเขาไปช่วยสอนด้วย ซึ่งพี่เค้าใจดีมากและให้โอกาสผมไปสอนด้วยกัน

นั่นเป็นก้าวเล็กๆที่ทำให้เข้าใกล้การเป็นดีไซน์เนอร์มากขึ้น และในอีกประมาณปีกว่าๆพี่เขาก็สร้างทีมใหม่ และชวนผมไปเริ่มทำงานกับเขา ในฐานะดีไซน์เนอร์เต็มตัว

โชคดีที่ชีวิตนี้ผมได้เจอพี่เขาจริงๆครับ

เข้าใจความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาส

มองเห็นความเสี่ยง พร้อมกับโอกาส -> ทำความเข้าใจความเสี่ยง และวางแผน -> ลงมือทำพร้อม จัดการความเสี่ยง

ความเสี่ยงมักจะมาพร้อมกับโอกาสที่ก้าวกระโดดเสมอ ดังนั้นถ้าไม่เสี่ยงเลย อาจจะทำให้เราไม่ทันคว้าโอกาสต่างๆ จนกระทั่งเราช้าเกินไปจนตามโลกไม่ทัน

ไม่ได้แปลว่าเราควรเสี่ยงแบบไม่บันยะบันยัง แต่หมายถึงเราควรทำความเข้าใจธรรมชาติของความเสี่ยงให้ดีกว่านี้ เพื่อที่เราจะจัดการมันให้ได้

  • ความเสี่ยง subjective - สิ่งที่เรามองว่าเสี่ยง คนอื่นอาจจะไม่เสี่ยงก็ได้ หรือกลับกันก็ได้
  • ความเสี่ยง dynamic - ทุกอย่างเปลี่ยนอยู่เสมอและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เมื่อเวลาผ่านไปเสี่ยงอาจกลายเป็นไม่เสี่ยงหรือกลับกันก็ได้

ทุกครั้งที่รู้สึกเสี่ยงให้

  • ทบทวน จุดประสงค์ มองภาพรวมและภาพไกล เพราะเราจะทนความเสี่ยงความผิดพลาดได้มากขึ้น เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน
  • ดูว่าเสี่ยงจริงมั้ย โดยลองมองจากมุมคนอื่น หรือปรึกษาคนอื่นๆดู
  • คิดว่าถ้าเราทำไปแล้วมันพัง อะไรคือสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ (ปัจจัยอาจจะขึ้นอยู่กับ อายุ เงิน ภาระ ฯลฯ ด้วย)

ถ้าเราคิดรอบครอบแล้วว่า เสี่ยงแล้วได้มากกว่าเสีย ถึงเสียก็ยังไม่เจ็บมาก เราก็ลงมือด้วยความมั่นใจได้เลย!

ตัวอย่าง: ทิ้งวุฒิวิศวะที่เรียนมา ไปตายเอาดาบหน้าที่ต่างประเทศ

ในปี 2012 ผมที่พึ่งเรียนจบวิศวะตัดสินใจทิ้ง offer งาน แล้วไปหาเรียน animation ที่ต่างประเทศ

นับเป็นการตัดสินใจที่ทะเล่อทะล่าสุดในชีวิต ซึ่งสิ่งที่ยอมรับในหัวตอนนั้นคือ

  • เรากำลังทิ้งเงินและเวลาก้อนใหญ่ไปนะ (ค่าเทอมที่พ่อแม่จ่าย + เวลา 4 ปี + เงินเดือนที่กำลังจะได้)
  • เรากำลังทิ้งโอกาสการงานที่มั่นคงไปนะ (offer จากบริษัทใหญ่ที่มี structure และพร้อมปั้นเด็กจบใหม่)
  • เราต้องฝึกฝนหนักกว่าชาวบ้านนะ (เพราะพื้นฐานแทบไม่มี)
  • เราต้องทำงานเสริมเพื่อหาเงินขณะเรียนด้วยนะ (เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่)
  • แต่ถ้าไปไม่รอดจริงๆ เราจะกลับมาทำงานที่ไทย

พอตัดคิดดีแล้ว ผมก็ออกไปสมบุกสมบันเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกและหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวเองในทุกวันนี้

“ทำตามฝัน” อาจจะดูเอาแต่ใจและเปราะบางเอามากๆ แต่การ “ทำตามฝันโดยไตร่ตรองก่อน” มันทำให้เรามั่นใจและมั่นคงมากๆ

แลกเปลี่ยนความรู้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ

เมื่อเจอปัญหา หรือ ต้องการความรู้ใหม่ๆ -> คุยกับ Domain expert สำหรับความรู้เฉพาะทาง, คุยกับ “Your” Expert สำหรับความรู้เฉพาะคุณ, คุยกับ Free-range Expert สำหรับความรู้องค์รวม

ความรู้เป็นสิ่งที่ดิ้นดุ๊กดิ๊ก

  • บางอย่างเราไม่รู้
  • บางอย่างเรารู้คิดว่าเรารู้ แต่เข้าใจผิด
  • บางอย่างเรารู้จริง เข้าใจถูก แต่พอเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยน กลายเป็นสิ่งที่เราเข้าใจมันผิด
  • บางอย่างเรารู้จริง แต่โลกเปลี่ยนไป กลายเป็นความรู้ที่ตกยุคและไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

นอกจากหาความรู้ด้วยตัวเองแล้ว การแลกเปลี่ยนความรู้กับคนรอบข้างของเราก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากๆ เพราะ

  • หลายๆคนเก่งเงียบ ถ้าเราไม่ได้ไปถามก็อาจจะไม่รู้เลย
  • คนเหล่านั้นกรองข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้ว เราไม่ต้องไปหาใหม่เอง
  • บางคนเข้าใจเราดี และ/หรือ เข้าใจในสถานการณ์ของเรา เราก็จะได้ข้อมูลที่เฉพาะกับเราเลย

ซึ่งคนรอบข้างที่เราควรขอความรู้นั้น มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ

  • Domain expert – ความรู้เฉพาะทาง คือ ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เช่น คนนี้เป็นดีไซน์เนอร์ที่เก่งเรื่องการทำ UI มากๆ คนเหล่านี้จะช่วยให้เราทำสิ่งที่เราอยากทำได้อย่างรวดเร็ว
  • “You” expert – ความรู้เฉพาะคุณ คือ คนที่เข้าใจเรามากๆ เช่น คนใกล้ตัวที่เข้าใจอุปนิสัย แนวคิด ของเรา คนเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและโอกาสที่เข้ามามากขึ้น
  • Free-range experts – คนที่เราเชื่อใจว่าเขารอบรู้และเราชอบแนวคิดเขา คนเหล่านี้มักจะช่วยเราวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆได้ดี ทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น

ตัวอย่าง: แม้จะชอบหาความรู้เอง แต่ก็แลกเปลี่ยนกับคนอื่นบ้าง

ด้วยความเป็น introvert ผมชอบที่จะหาความรู้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าจะทำตอนไหนก็ได้ และใช้เวลาได้เต็มที่ แต่พอผมทำงานที่ต้องร่วมมือกันเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ผมก็เริ่มที่จะเรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนกับคนอื่นบ้าง

ผมพบว่าวิธีการเรียนรู้ทั้ง 2 แบบ มีประโยชน์ทั้งคู่ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์

  • หาความรู้เอง – ทำเวลาไหนก็ได้ / รู้ให้ลึกเพื่อเข้าใจ ฝึกให้ทำเป็น
  • แลกเปลี่ยนความรู้ – ต้องหาเวลาที่ว่างทั้งคู่ / รู้ให้เห็นมุมมอง รู้ให้เห็นความเป็นไปได้ รู้เพื่อแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจง / ที่สำคัญคือสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

ปัจจุบันพบว่ารู้ด้วยตัวเองสัก 70% ถามคนอื่นสัก 30% คือสัดส่วนที่กำลังดีของผม

สรุป

  • การทำสิ่งที่เรารักให้ประสบความสำเร็จได้ เราทุกคนต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ
  • ปรับหาตรงกลางของ หัวใจ–แต้มต่อ–ตลาด อยู่เสมอ
  • วางแผนให้ชัดเจน โดยมี Plan A (ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน)​ Plan B (opportunity ใหม่ๆ หรือ สิ่งที่ต่อยอดจาก A ได้) และ Plan Z (แผนสำรอง ถ้าทุกอย่างพังทลาย)
  • สร้างเครือข่ายเพื่อให้เห็นโอกาสมากขึ้น และแลกเปลี่ยนความรู้กับคนเหล่านั้นอยู่เสมอ
  • เสี่ยงบ้าง แต่ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี ไม่อย่างนั้นเราจะพลาดโอกาสเติบโตเยอะมาก

อ่านสรุปจบแล้วยังไงต่อ

  • เริ่มวางแผนการทำงานของตัวเอง อะไรคือก้าวต่อไปที่เราอยากทำ
  • บอกคนรอบตัวสัก 1 คนที่เราไว้ใจ และลองขอคำแนะนำจากเขาดู
  • ลองซื้อฉบับจริงมาอ่านดูนะครับ: Start-up of You : Adapt, Take Risks, Grow Your Network, and Transform Your Life

ขอให้มีความสุขกับการทำในสิ่งที่ตัวเองรักนะครับ ❤️

Latest Posts

วิธีใช้ subgrid เพื่อให้เนื้อหา card เรียงกันแบบสวยๆ

สอนวิธีการใช้ subgrid เพื่อสร้าง card ที่มี layout ที่สวยงามและ flexible ได้ตามเนื้อหาที่ใส่เข้ามา

01 Jun 2024 • Marach T.

คู่มือเข้าใจ Burnout: เป็นที่เรา หรือเป็นที่งาน

เบิร์นเอาท์ (burnout) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายแต่รักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะมักเกิดจากปัจจัยทั้งภายใน (ตัวเราเอง) และภายนอก (งาน)

17 Feb 2024 • Marach T.

Design principle คืออะไร และช่วยทีมโปรดักอย่างไร

Design principle คือ หลักการที่ใช้ตัดสินใจในการออกแบบ product – ช่วยให้ทีมตัดสินใจได้เหมาะสมและรวดเร็ว

11 Jun 2023 • Marach T.

ดู Posts ทั้งหมด